วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

การเพาะเลี้ยงปลาทอง (รศ.ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์)

      ปลาทองหรือปลาเงินปลาทอง มีชื่อสามัญว่า Goldfish   เป็นปลาสวยงามน้ำจืดที่นิยมเลี้ยงมานานแล้ว จัดเป็นปลาที่ติดตลาด คือเป็นปลาที่มีจำหน่ายในร้านขายปลาสวยงามทุกร้านและสามารถขายได้ราคาดีตลอดปี โดยทั่วไปจัดว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน ซึ่งชาวจีนจะเรียกปลาทองที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติว่า Chi Yu และเรียกปลาทองที่เลี้ยงอยู่ตามบ้านว่า Chin Chi Yu ในประเทศญี่ปุ่น ปลาทองได้รับความนิยมเลี้ยงกันอย่างมาก และมีการพัฒนาวิธีการเพาะพันธุ์มีการคัดเลือกปลาที่มีลักษณะเด่นต่างๆมาผสมพันธุ์กัน ทำให้ได้ปลาทองที่มีลักษณะสวยงามขึ้นมาหลายชนิด และได้รับความนิยมแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ
                ชาวจีนเป็นชาติแรกที่นิยมเลี้ยงปลาทอง โดยปลาทองสายพันธุ์ดั้งเดิมไม่มีความสวยงามมากนัก   มีลักษณะทั่วไปคล้ายปลาไน เพียงแต่ว่ามีสีสันสวยงามและสดกว่าปลาไน   
.
ภาพที่ 1  แสดงลักษณะปลาทองพันธุ์ดั้งเดิม (Wild Type)
                                                ที่มา : Coffey (1977)
               การเลี้ยงปลาทองได้รับความนิยมมากในระหว่างปี พ.. 1243 - 1343   โดยชาวจีนในสมัยนั้นนิยมเลี้ยงปลาทองไว้ในสระน้ำในบริเวณรั้วบ้าน  ต่อมาในปี พ.. 1716 - 1780  มีการนำปลาทองมาเลี้ยงในกรุงปักกิ่ง โดยนิยมเลี้ยงในอ่างกระเบื้องเคลือบ การเลี้ยงปลาทองเพื่อการจำหน่ายจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว เริ่มมีการเพาะพันธุ์ปลาทองและได้พันธุ์ปลาแปลกๆมากขึ้น ในปี พ.. 2043 จึงมีการนำปลาทองเข้าไปเลี้ยงในเมืองซาไกประเทศญี่ปุ่น แต่ได้รับความสนใจมากในปี พ.. 2230 สำหรับประเทศอื่นๆที่มีรายงานเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาทองได้แก่
                ปี พ..  2234   ที่ประเทศอังกฤษ
                ปี พ..  2323   ที่ประเทศฝรั่งเศส
                ปี พ..  2419   ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
                สำหรับในประเทศไทยไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าราวปี พ..  1911 - 2031
.
      
ภาพที่ 2  ลักษณะปลาทองที่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ในระยะแรกๆ(Common Goldfish)
                              ที่มา : Bailey and Sandford (2000)    
                Frank (1969)  ได้จัดลำดับชั้นของปลาทองไว้ดังนี้
                Class                       :   Osteichthyes
                  Subclass               :   Teleostei
                    Order                  :   Cypriniformes
                      Suborder           :   Cyprinoidei (Carps)
                        Family             :   Cyprinidae
                          Genus           :   Carassius
                            Species       :   auratus                            
                                                                                                                                  .              
ลักษณะรูปร่างของปลาทอง           
                 ปลาทองสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในธรรมชาตินั้น มีรูปร่างคล้ายปลาไนแต่มีขนาดเล็กกว่าปลาไนมาก คือ เป็นปลาที่มีรูปร่างป้อม แบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวลาด ปากมีขนาดเล็ก มีหนวดสั้น 2 คู่ ครีบหลังค่อนข้างยาว ครีบหางเป็นแฉกเว้าลึก ีลำตัวมีสีน้ำตาลคล้ำอมทองหรือสีส้ม ส่วนท้องสีจางกว่าลำตัว หรือสีขาว 
                 เนื่องจากมีการนำปลาทองไปเลี้ยงในประเทศต่างๆ ประกอบกับเป็นปลาที่ผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กับปลาในกลุ่มเดียวกันชนิดอื่นๆได้ง่าย ทำให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาทองชนิดใหม่ๆออกมาหลายชนิด มีลักษณะเด่นสวยงามแตกต่างกันไป ซึ่งลักษณะเด่นๆที่สำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ 
  • ครีบหาง เปลี่ยนแปลงจากหางแฉก หรือหางเดี่ยว เป็น หางพวง หรือหางคู่
  • ครีบก้น  เปลี่ยนแปลงจากครีบเดี่ยว เป็น ครีบคู่
  • ครีบหลัง บางชนิดจะไม่มีครีบหลัง
  • ส่วนหัว บางชนิดจะมีลักษณะที่พองออกเป็นวุ้น
  • ตา  บางชนิดมีกระบอกตาที่โป่งพองออก
 .
   ภาพที่ 3  แสดงส่วนต่างๆและรูปร่างของปลาทอง
.
  
ภาพที่ 4  แสดงลักษณะปลาทองสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ใหม่         
                                       ที่มา : Free-pet-wallpapers.com (2012) (ซ้าย)   .    
                                                Bailey and Sandford (2000) (ขวา)           
              จากการที่มีการพัฒนาทางด้านการเพาะพันธุ์   มีการคัดเลือกลักษณะเด่นที่ต้องการ  แล้วนำมาเพาะพันธุ์ต่อมาเรื่อยๆ   ทำให้ได้ปลาทองที่มีลักษณะและสีสันสวยงามหลายแบบด้วยกัน   และมีการตั้งชื่อพันธุ์ต่างๆไว้ดังนี้
                4.1 ปลาทองที่มีหางเดี่ยว   อาจเรียกหางปลาทู  หรือหางแฉก (Fork  Tail)   ลักษณะหางเป็นแผ่นแบนกว้าง   เว้าตรงกลางหรือเป็น  2  แฉก   มีสายพันธุ์ที่นิยม  2  สายพันธุ์   คือ
4.1.1 พันธุ์โคเมท (Comet)   เป็นปลาทองสายพันธุ์ดั้งเดิม   หรือต้นตระกูลของปลาทอง   ลักษณะลำตัวค่อนข้างแบนยาวคล้ายปลาไน   ลำตัวมักมีสีแดง   สีแดงสลับขาว   หรือสีทอง   ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยม
.
    
                              ภาพที่ 5  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์โคเมท
                                            ที่มา : สุรศักดิ์ (2538)  
.
  4.1.2 พันธุ์ชูบุงกิง (Shubunkin)    ลักษณะคล้ายพันธุ์โคเมท   แต่จะมีจุดประที่ลำตัวหลายสี   เช่น  สีแดง สีขาว  สีม่วง  สีส้ม  และสีดำ   เกล็ดจะค่อนข้างใส   จัดเป็นปลาทองที่สวยงามมากชนิดหนึ่ง   เนื่องจากมีสีเด่นหลายสี   สดใส   ได้รับความนิยมมากในสมัยก่อนและมีการตั้งชื่อไว้หลายชื่อ  เช่น   Speckled Goldfish ,  Harlequin  Goldfish ,  Vermilion  Goldfish  หรือ  Coronation  fish 
.
      
                               ภาพที่ 6  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์ชูบุงกิง
                                             ที่มา : สุรศักดิ์ (2538)  
.
                 4.2 ปลาทองที่มีหางคู่   คือมีส่วนหางแยกออกเป็น  3 - 4  แฉก   มีทั้งที่มีครีบหลังตามปกติ   หรือบางชนิดไม่มีครีบหลัง   มีที่ได้รับความนิยมหลายสายพันธุ์  ดังนี้
4.2.1 พันธุ์ออแรนดา (Oranda) สมัยก่อนมักเรียกฮอลันดา   หรือฮอลันดาหัวแดง   ลักษณะลำตัวค่อนข้างยาว   มีครีบครบทุกครีบ   หางยาว   และมีลักษณะเด่นคือมีวุ้นที่ส่วนหัว (Hood) คล้ายพันธุ์หัวสิงห์   แต่มักไม่ขยายใหญ่เท่าหัวสิงห์   สีของวุ้นมักออกเป็นสีเหลืองส้ม   เป็นปลาทองที่มีขนาดใหญ่   และมีความสวยงามมากชนิดหนึ่ง   สีของลำตัวมักออกสีขาวเงิน    ชาวญี่ปุ่นเรียก   Oranda Shishigashira
.
ภาพที่ 7  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์ออแรนดา
                                                    ที่มา : Free-pet-wallpapers.com (2012) (บน)   
.    
4.2.2 พันธุ์ริวกิ้น (Ryukin  or Veiltail ) ลักษณะเด่น คือ  เป็นพันธุ์ที่มีหางค่อนข้างยาวเป็นพวงสวยงามเป็นพิเศษ  คล้ายริบบิ้นหรือผ้าแพร ทำให้มีชื่อเรียกได้หลายชื่อ คือ  Fringetail ,  Ribbontail ,  Lacetail ,   Muslintail  และ  Japanese  Fantail   ในขณะที่ว่ายน้ำครีบหางจะบานเป็นสง่า ลำตัวค่อนข้างกลมสั้น และมักมีสีแดงสลับขาว บางชนิดอาจมี 5 สี  เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก     
.
ภาพที่ 8  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์ริวกิ้น  
                                                      ที่มา สุรศักดิ์ (2538) (ล่าง)
.
4.2.3 พันธุ์ตาโปน (Telescope-eyed  Goldfish) อาจเรียก  Pop-eye  Goldfish ชาวจีนนิยมเรียก  Dragon  Eyes  ชาวญี่ปุ่นเรียก  Aka Demekin ซึ่งแปลว่าตาโปนเช่นกัน ลักษณะเด่นของพันธุ์ คือ ลูกตาจะยื่นโปนออกมามากเหมือนท่อกล้องส่องทางไกล พันธุ์ตาโปนที่นิยมเลี้ยงมี  5 ชนิด คือ
             พันธุ์ตาโปนสีแดง (Red  Telescope-eyed  Goldfish) มีสีแดงตลอดตัว   ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น
.
 
ภาพที่ 9  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์ตาโปนสีแดงขาว
                                                ที่มา : สุรศักดิ์ (2538) (ซ้าย)
                                                         Pet Goldfish (2010) (ขวา)
               พันธุ์มัว (Moor)   หรือเล่ห์ (Black  Moor  or  Black  Telescope-eye  Goldfish)   เป็นพันธุ์ที่รู้จักดีในประเทศไทยในชื่อ เล่ห์ หรือ ลักเล่ห์  ลักษณะเด่น  คือ  ลำตัวมีสีดำสนิทตลอด  ตาจะไม่โปนมากนัก  ชาวญี่ปุ่นเรียกพันธุ์นี้ว่า  Kuro Demekin
.
          
ภาพที่ 10  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์เล่ห์
.
                  พันธุ์ตาโปนสามสี (Calico  Telescope-eye Goldfish)   รู้จักกันดีในประเทศไทยว่าลักเล่ห์ห้าสี เป็นพันธุ์ที่มีเกล็ดค่อนข้างบาง ลำตัวมีสีสันหลายสีสดเข้มและมักมีเพียง  3 สี แต่สีที่พบในพันธุ์นี้จะมี  5 สี คือ สีแดง สีขาว สีดำ สีน้ำตาลออกเหลือง และสีแดงออกม่วง  ชาวญี่ปุ่นเรียกพันธุ์นี้ว่า Sanshoku Demekin
.
ภาพที่ 11  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์ตาโปนสามสี
                                                   ที่มา : Pet Goldfish (2010)       
                   พันธุ์ตาลูกโป่ง (Bubble Eye Goldfish) ลักษณะเด่น คือ มีเบ้าตาพองออกคล้ายลูกโป่งทั้งสองข้าง เวลาว่ายน้ำมักจะแกว่งไปมา ลำตัวมักมีสีขาวหรือเหลืองแกมส้ม มีทั้งที่มีครีบหลังและไม่มีครีบหลัง  
.
ภาพที่ 12  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์ตาลูกโป่ง
                                                      ที่มา : นายเก๋า (2547)        
                    พันธุ์ตากลับ (Celestial Goldfish)  ลักษณะเด่น คือ ตาที่โปนออกมาจะหงายกลับขึ้นข้างบน ชาวจีนเรียกว่า Shotengan แปลว่าตามุ่งสวรรค์ หรือตาดูฟ้า ต่อมาชาวญี่ปุ่นนำไปเลี้ยงและพัฒนาได้หางสั้นกว่าเดิม เรียก Demeranchu  
.
ภาพที่ 13  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์ตากลับ
                                                       ที่มา : สุรศักดิ์ (2538)       
.
4.2.4 พันธุ์เกล็ดแก้ว (Pearl  Scale  Goldfish) ลักษณะลำตัวค่อนข้างกลมคล้ายลูกปิงปอง ส่วนหัวเล็กมาก หางยาว ลักษณะเด่น คือ มีเกล็ดนูนขึ้นมาต่างกับเกล็ดธรรมดาทั่วไปอย่างชัดเจน สีของลำตัวมักมีสีขาว สีส้ม และสีทอง     
.
ภาพที่ 14  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์เกล็ดแก้ว
                                                     ที่มา : Pirun.ku.ac.th  
.
4.2.5 พันธุ์หัวสิงห์ (Lionhead  Goldfish  or Ranchu) ลักษณะเด่นของพันธุ์นี้คือ ไม่มีครีบหลัง   หางสั้นและเป็นครีบคู่  ที่สำคัญคือ ส่วนหัวจะมีก้อนวุ้นปกคลุมอยู่ ทำให้มีชื่อเรียกได้อีกหลายชื่อ เช่น  Hooded Goldfish ,  Buffalo-head  Goldfish ส่วนในญี่ปุ่นเรียก Ranchu  ในประเทศไทยเรียกกันโดยทั่วไปว่า หัวสิงห์”  เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน และนิยมจัดประกวดกันเป็นประจำ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นเจ้าพ่อของปลาทอง(King  of  The  Goldfish) มีอยู่หลายชนิดที่นิยมเลี้ยง ได้แก่
                  สิงห์ญี่ปุ่น เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ลักษณะทั่วไปคือ ลำตัวค่อนข้างสั้นและส่วนหลังโค้งมนสวยงาม สีของลำตัวเป็นสีส้มเข้มเหลือบทองต้องตา วุ้นที่ส่วนหัวมีลักษณะเล็กละเอียดขนาดไล่เลี่ยกันและค่อนข้างหนา ครีบหางสั้นและจะยกสูงขึ้นเกือบตั้งฉากกับลำตัว ครีบก้นเป็นครีบคู่มีขนาดเท่ากัน  
.
ภาพที่ 15  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์สิงห์ญี่ปุ่น
.
                  สิงห์จีน เป็นพันธุ์ต้นตระกูลของหัวสิงห์ กำเนิดในจีน ลำตัวค่อนข้างยาว ส่วนหลังไม่โค้งมากนักหางค่อนข้างยาวอ่อนลู่ หัวค่อนข้างใหญ่และมีวุ้นดกหนากว่าสายพันธุ์อื่น และทางด้านท้ายของวุ้นไม่ขรุขระ   ทำให้มองเหมือนหัวมีขนาดใหญ่กว่าลำตัว สีของลำตัวเป็นสีส้มแกมทองแต่ไม่สดมากนัก  
.
   
ภาพที่ 16  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์สิงห์จีน
                                                       ที่มา : สุรศักดิ์ (2538) 
.
                   สิงห์หัวแดง สิงห์ตันโจ  ลักษณะทั่วไปคล้ายสิงห์ญี่ปุ่น แต่สีของลำตัวเป็นสีขาวเงิน ส่วนหัวและวุ้นจะมีสีแดง
 .
ภาพที่ 17  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์สิงห์หัวแดง
.
                   สิงห์ตามิด  ลักษณะทั่วไปคล้ายสิงห์ญี่ปุ่น แต่สีของลำตัวเป็นสีดำสนิทตลอดลำตัว แม้กระทั่งวุ้นก็เป็นสีดำ วุ้นค่อนข้างดกหนาจนปิดลูกตาแทบมองไม่เห็น 

            
ภาพที่ 18  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์สิงห์ตามิด
                                                                       ที่มา : Fish949 (2011)      
                   สิงห์ห้าส ลักษณะทั่วไปคล้ายสิงห์จีน แต่มีสีบนลำตัว 5 สี คือ สีดำ สีแดง สีขาว สีน้ำเงิน  และสีเหลือง เกล็ดค่อนข้างบางโปร่งใส
.
ภาพที่ 19  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์สิงห์ห้าสี
                                                      ที่มา : Jesada (2004)
                   สิงห์เงิน  ลักษณะทั่วไปคล้ายสิงห์หัวแดง มีสีของลำตัวเป็นสีขาวเงิน แต่ส่วนหัวและวุ้นจะมีสีเงินด้วย
.
ภาพที่ 20  แสดงลักษณะของปลาทองพันธุ์สิงห์เงิน
.
                 สายพันธุ์อื่นๆ  ยังมีปลาทองอีกหลายสายพันธุ์ที่ผลิตขึ้นมาจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเน้นผลิตปลาทองเพื่อการส่งออก และค่อนข้างได้รับความนิยมจากตลาดต่างประเทศ ทำให้มีสายพันธุ์ใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ 
                การศึกษาความแตกต่างลักษณะเพศของปลาทองทำได้ไม่ยากนัก ผู้เลี้ยงปลาโดยทั่วไปจะสามารถแยกเพศปลาทองได้ ผู้ที่ต้องการดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาทอง หากเข้าใจวิธีการแยกเพศปลาทองเป็นอย่างดี ก็จะช่วยให้เลือกซื้อหรือจัดเตรียมปลาทองเพศผู้และเพศเมียตามจำนวนที่ต้องการได้
                ความแตกต่างลักษณะเพศของปลาทองนั้น ถ้าจะดูจากลักษณะภายนอกของลำตัวแล้วจะไม่พบความแตกต่างกัน   การแยกเพศจะทำได้ก็ต่อเมื่อปลาสมบูรณ์เพศ คือ เป็นปลาโตเต็มวัยแล้ว ซึ่งต้องเลี้ยงไว้ประมาณ 6 - 8 เดือน   เมื่อปลาสมบูรณ์เพศแล้วปลาเพศผู้จะเกิด ตุ่มสิว (Pearl Organ หรือ Nuptial Tubercles) ซึ่งเป็นตุ่มหรือจุดเล็กๆสีขาว เกิดขึ้นบริเวณก้านครีบอันแรกของครีบอก และบริเวณกระพุ้งแก้ม  ซึ่งถ้าสังเกตุดีๆจะพอเห็นได้และมักจะเกิดเด่นชัดเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ของปลาทอง แต่ในช่วงนอกฤดูกาลผสมพันธุ์  เช่นในฤดูหนาว หรือปลาไม่มีความพร้อมทางเพศ   ตุ่มสิวนี้จะมีขนาดเล็กสังเกตุได้ยาก แต่ก็สามารถแยกเพศได้โดยการใช้มือลูบเบาๆที่ครีบอกถ้าเป็นปลาทองเพศผู้จะรู้สึกสากมือเนื่องจากมีตุ่มสิวดังกล่าว แต่ถ้าเป็นปลาเพศเมียจะรู้สึกว่าครีบอกนั้นจะลื่นนอกจากนั้นถ้าปลามีความพร้อมในการผลมพันธุ์ คือปลาเพศเมียมีไข่แก่ และปลาเพศผู้มีน้ำเชื้อสมบูรณ์ ถ้าจับที่บริเวณท้องของเพศเมียจะรู้สึกว่าค่อนข้างนิ่ม และที่ช่องเพศจะขยายตัวนูนสูงขึ้น ส่วนปลาเพศผู้ถ้าลองรีดที่บริเวณท้องลงไปทางช่องเพศ จะเห็นว่ามีน้ำเชื้อซึ่งเป็นสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมไหลออกมาเล็กน้อยได้
.
          
 ภาพที่ 21  แสดงบริเวณก้านครีบอันแรกที่จะเกิดตุ่มสิวในปลาทองเพศผู้        
                                       ที่มา : Aquariacentral.com (2010)      
                  ปลาทองจัดว่าเป็นปลาที่ดำเนินการเพาะพันธุ์ได้อย่างง่ายๆ โดยวิธีการเพาะแบบช่วยธรรมชาติ   ปกติปลาทองจะมีการแพร่พันธุ์วางไข่ในตู้กระจกหรือบ่อที่ใช้เลี้ยงอยู่แล้ว ซึ่งมักจะไล่ผสมพันธุ์วางไข่ในตอนเช้าของวันถัดไปหลังจากที่ผู้เลี้ยงมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ให้ แต่ที่ผู้เลี้ยงไม่พบว่ามีลูกปลาทองเกิดขึ้นในตู้เลี้ยงปลา เนื่องจากว่าปลาทองเป็นปลาที่ไข่ทิ้งไม่มีการดูแลรักษาไข่ เมื่อวางไข่แล้วก็จะหวนกลับมากินไข่ของตัวเองอีกด้วย นอกจากนั้นปลาทองตัวอื่นๆหรือปลาชนิดอื่นที่เลี้ยงรวมอยู่ในตู้ด้วย ก็จะคอยเก็บกินไข่ที่ออกมาด้วย   กว่าที่ไข่ที่เหลืออยู่จะฟักตัวออกมา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 วัน ไข่ก็จะถูกปลาทยอยเก็บกินไปเกือบหมด   ส่วนไข่ที่รอดจากถูกกินจนตัวอ่อนฟักตัวออกมา ตัวอ่อนที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ก็จะกลายเป็นอาหารที่ดีของปลาต่างๆอีก เพราะลูกปลาจะมีขนาดพอๆกับลูกน้ำ ทำให้ถูกจับกินไปจนหมดอย่างรวดเร็ว
                  ดังนั้นหากต้องการลูกปลาทองก็จำเป็นต้องมีการจัดการการเพาะให้ถูกต้อง จึงจะได้ลูกปลาจำนวนมากตามต้องการ  การเพาะปลาทองจะทำได้ดี คือ ปลาวางไข่ง่าย ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนกันยายน โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
6.1 การเตรียมบ่อเพาะ   บ่อที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลาทองควรเป็นบ่อซีเมนต์  มีขนาดประมาณ 1 ตารางเมตร  ขัดล้างให้สะอาดด้วยแปรงและสบู่แล้วฉีดน้ำล้างหลายๆครั้ง จากนั้นเตรียมน้ำใหม่ที่ระดับประมาณ 20 - 25 เซนติเมตร นอกจากนั้นยังอาจใช้กะละมังขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นบ่อเพาะปลาทองก็ได้
.
ภาพที่ 22  แสดงการใช้กะละมังเป็นบ่อเพาะปลาทอง
.
6.2 การเตรียมรัง   ปลาทองเป็นปลาที่มีไข่ประเภทไข่ติด พฤติกรรมการวางไข่นั้นปลาเพศผู้จะว่ายน้ำไล่ปลาเพศเมียไปเรื่อยๆ ปลาเพศเมียเมื่อพร้อมจะวางไข่จะว่ายน้ำเข้าหาพรรณไม้น้ำตามริมน้ำ แล้วปล่อยไข่ครั้งละ 10 - 20ฟอง ปลาเพศผู้ที่ว่ายน้ำตามมาก็จะปล่อยน้ำเชื้อตาม ไข่จะได้รับการผสมพร้อมกันนั้นก็เกิดสารเหนียวที่เปลือกไข่ทำให้ไข่เกาะติดอยู่ตามราก ลำต้น และใบของพรรณไม้น้ำ ดังนั้นการเตรียมรังในบ่อเพาะปลาทอง ควรเป็นรังที่ช่วยให้ไข่ติดได้ง่ายและมากที่สุด คือต้องมีลักษณะเป็นฝอยนิ่มและค่อนข้างยาว รังที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่รังที่ทำจากเชือกฟาง โดยนำเชือกฟางสีใดก็ได้มาผูกเป็นกระจุก(คล้ายกับพู่ที่เชียร์ลีดเดอร์ใช้มีความยาวประมาณ 20เซนติเมตร   แล้วฉีกให้เป็นฝอยโดยพยายามให้เป็นเส้นฝอยขนาดเล็กให้มากที่สุด จากนั้นนำไปจุ่มในน้ำเดือดเพื่อให้เกิดความนุ่ม แล้วทำกรอบไม้ (อาจใช้ท่อ เอสล่อน)ให้ลอยอยู่ผิวน้ำ ขนาดเล็กกว่าบ่อเพาะเล็กน้อยเพื่อให้กรอบลอยอยู่บนผิวน้ำในบ่อได้ดี นำรังมาผูกในกรอบไม้เพื่อให้รังลอยตัว และรังจะกระจายตัวกัน หากไม่ทำกรอบผูกรัง รังจะถูกแรงลมที่เกิดจากเครื่องแอร์ปั๊ม ทำให้รังลอยไปรวมเป็นกระจุกอยู่ริมบ่อ ปลาจะวางไข่ที่รังได้ยาก การทำให้รังกระจายตัวกัน ช่วยให้ปลาสามารถวางไข่โดยกระจายไข่ตามรังที่จัดไว้ทุกรังได้เป็นอย่างดี
.
ภาพที่ 23  แสดงลักษณะพู่ทำจากเชือกฟางและรากผักตบชวาที่นำมาใช้เป็นรังในบ่อเพาะปลาทอง
.
6.3 การเตรียมพ่อแม่พันธุ์  คือการเลี้ยงและคัดปลาที่พร้อมจะผสมพันธุ์จากปลาที่เลี้ยงไว้รวมกัน โดยจะต้องเน้นเป็นปลาที่มีไข่แก่และน้ำเชื้อดี การที่จะเลี้ยงปลาทองให้มีไข่แก่และน้ำเชื้อได้ดีนั้นเป็นเรื่องไม่ยาก จากที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นการเลี้ยงปลาที่มีคุณภาพน้ำดีกว่าการเลี้ยงปลาแบบอื่นๆ เนื่องจากมีระบบกรองน้ำที่ดี ในสภาพน้ำที่ค่อนข้างดีปลาจะใช้อาหารที่ได้รับไปสำหรับการเจริญเติบโต ส่วนการพัฒนาของระบบสืบพันธุ์จะเป็นไปอย่างช้าๆ เมื่อใดที่คุณภาพน้ำเริ่มมีการสะสมของสิ่งหมักหมมต่างๆมากขึ้น ปลาที่สมบูรณ์เพศแล้วจะเริ่มมีการพัฒนาระบบสืบพันธุ์มากขึ้น เปรียบเทียบได้กับฤดูร้อนซึ่งน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติจะลดระดับลงเรื่อยๆน้ำจะมีการสะสมแร่ธาตุต่างๆมากขึ้น ปลาจะใช้อาหารที่ได้รับเพื่อการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการแพร่พันธุ์ในฤดูฝนที่จะมาถึง ดังนั้นการเลี้ยงปลาทองเพื่อให้ปลามีไข่แก่และน้ำเชื้อดีแทบทุกตัวพร้อมกัน จึงต้องอาศัยการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด คือ การปรับปรุงระบบเครื่องกรองน้ำ โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องกรองน้ำแบบหม้อกรองในตู้ ซึ่งช่วยทำให้น้ำใสได้บ้างพอควรและเก็บตะกอนไว้ได้ด้วย ล้างหม้อกรองประมาณ 3 วัน ต่อครั้ง และงดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ปลาหรือบ่อเลี้ยงปลาโดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องเติมน้ำเนื่องจากระดับน้ำลดลง ควรเติมในช่วงเช้า เพราะการเติมน้ำในตอนเย็นซึ่งอุณหภูมิเริ่มลดลง และปลาได้รับน้ำใหม่อาจมีผลกระตุ้นให้ปลาไข่แก่บางตัววางไข่ในเช้าวันถัดไปได้ พ่อแม่พันธุ์ปลาทองที่จะนำมาใช้เพาะพันธุ์ควรมีอายุประมาณ 10 เดือน นำมาเลี้ยงรวมกันเป็นเวลาประมาณ 30 - 50 วัน ปลาทองที่คัดมาเลี้ยงแทบทุกตัวจะมีไข่แก่และน้ำเชื้อสมบูรณ์เหมือนกันแทบทุกตัว ทำให้สะดวกที่จะคัดไปปล่อยลงบ่อเพาะ และควรคัดไปปล่อยเวลาประมาณ 16.00 .
                ข้อควรพิจารณาในการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง ควรหลีกเลี่ยงปลาในครอกเดียวกันเพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด
.
ภาพที่ 24  พ่อแม่พันธุ์ปลาทองในบ่อเลี้ยง  
.
6.4 จำนวนปลาและสัดส่วนเพศ  การปล่อยปลาลงบ่อเพาะแต่ละบ่อควรปล่อยปลาเพียงบ่อละ  1 คู่ หรือใช้ปลาเพศเมีย 1 ตัว กับปลาเพศผู้ 2 ตัว เนื่องจากการใช้ปลามากกว่า 1 คู่ นั้น ในขณะที่ปลาเพศเมียตัวที่พร้อมจะวางไข่ถูกปลาเพศผู้ว่ายน้ำไล่ไปนั้น จะถูกปลาตัวอื่นๆคอยรบกวนโดยว่ายน้ำติดตามกันไปหมดทุกตัว เพราะปลาเหล่านั้นต้องการตามไปกินไข่ของแม่ปลาที่จะปล่อยออกมา การปล่อยปลาหลายคู่จึงกลับกลายเป็นข้อเสีย ดังนั้นการปล่อยปลาเพียงบ่อละคู่จะทำให้ไข่มีอัตราการผสมค่อนข้างดี และได้จำนวนมาก  

 
ภาพที่ 25  ลักษณะของพ่อแม่ปลาทองที่คัดปล่อยลงบ่อเพาะ
.
6.5 การเพิ่มน้ำและลม  หากต้องการให้ปลาได้รับการกระตุ้นและเกิดการวางไข่อย่างแน่นอน ควรจะมีการให้ลมเพื่อให้น้ำเกิดการหมุนเวียนแรงพอสมควร นอกจากนั้นถ้าหากสามารถทำให้เกิดกระแสน้ำ หรือทำให้เกิดฝนเทียม ก็จะทำให้ปลาวางไข่ได้ง่ายขึ้น ฉนั้นบ่อเพาะที่ดีจะต้องมีระบบน้ำล้นที่ดีด้วย
6.6 การวางไข่ของปลา  ถ้าหากคัดปลาได้ดี คือ ปลามีไข่แก่และน้ำเชื้อดี ปลาจะผสมพันธุ์วางไข่ตอนรุ่งเช้าของวันถัดไป หากปลายังไม่วางไข่จะปล่อยพ่อแม่ปลาไว้อีก 1 คืน แต่ถ้าเช้าวันถัดไปปลาก็ยังไม่วางไข่  แสดงว่าผู้เพาะคัดปลาไม่ถูกต้อง คือปลาเพศเมียที่คัดมาเพาะมีรังไข่ยังไม่แก่จัดพอที่จะวางไข่ได้ จะต้องปล่อยพ่อแม่ปลาที่คัดมาเพาะกลับคืนลงบ่อเลี้ยง แต่ถ้าปลาวางไข่จะสังเกตได้ว่าน้ำในบ่อเพาะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป โดยมักจะเกิดเมือกเป็นฟองตามผิวน้ำและรัง เมื่อพิจารณาที่รังจะเห็นว่ามีไข่ปลาทอง มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆสีเหลืองอ่อนค่อนข้างใสเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร ติดอยู่ตามเส้นเชือกภายในรัง เม็ดไข่ที่ดูใสนี้แสดงว่าเป็นไข่ที่ได้รับการผสมหรือไข่ดี และจะมีเม็ดไข่ที่สีขุ่นขาวซึ่งเป็นไข่ที่ไม่ได้รับการผสมหรือเป็นไข่เสีย
.
ภาพที่ 26  แสดงลักษณะไข่ปลาทองที่ติดอยู่ที่รากผักตบชวา      
                                                          ไข่ดีจะใส ส่วนไข่เสียจะสีขุ่นขาว
                เมื่อประสบผลสำเร็จในการเพาะปลาทองหรือสามารถทำให้ปลาทองวางไข่ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการฟักไข่ ซึ่งอาจใช้บ่อเพาะเป็นบ่อฟักไข่ได้เลย โดยการช้อนเอาพ่อแม่ปลาออก จากนั้นเพิ่มระดับน้ำเป็น 30 - 40เซนติเมตร  เปิดแอร์ปั๊มเพื่อให้ออกซิเจนและเกิดการหมุนเวียนน้ำตลอดเวลา และถ้าสามารถเพิ่มน้ำใหม่ทำให้มีการระบายน้ำด้วย จะช่วยไล่ความคาวที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาของไข่ออกไปเรื่อยๆ จะทำให้ไข่ปลาทองฟักตัวได้ดีไม่ค่อยมีการติดเชื้อ แต่ต้องใส่ผ้ากรองกันไว้ที่ทางออกของท่อน้ำล้น  เพื่อกันลูกปลาที่ฟักตัวออกจากไข่ไม่ให้ไหลไปตามน้ำ  แม่ปลา 1 ตัวจะสามารถวางไข่ได้ครั้งละ  1,000 - 3,000 ฟอง ไข่จะใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 48 - 56 ชั่วโมง (2 - 3  วัน)  ลูกปลาที่ฟักตัวออกจากไข่แล้วมักจะเกาะอยู่ที่รัง  หรือว่ายน้ำออกไปเกาะอยู่ที่ผนังบ่อ  รอจนเช้าวันที่ 4 หลังจากที่ปลาวางไข่จึงค่อยๆเขย่ารังเพื่อไล่ลูกปลาออกจากรัง แล้วปลดรังออก
.
ภาพที่ 27  ลักษณะของลูกปลาทองที่ฟักออกจากไข่แต่ยังมีถุงอาหารอยู่  ยังไม่ว่ายน้ำจะเกาะอยู่ที่ผนัง 
                                                              
                บ่อที่จะใช้สำหรับอนุบาลลูกปลาทองควรเป็นบ่อซีเมนต์ ขนาด 4 - 10 ตารางเมตร มีความลึกประมาณ40 - 50 เซนติเมตร  เป็นบ่อที่สามารถถ่ายเทน้ำได้อย่างดี โดยเฉพาะถ้าสามารถปรับระบบน้ำไหลได้จะทำให้ลูกปลามีความแข็งแรงมาก เจริญเติบโตรวดเร็วและมีอัตรารอดดี เพราะการระบายน้ำจะช่วยระบายของเสียหรือสิ่งขับถ่ายของลูกปลาออกไปได้เป็นอย่างดี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกปลาเติบโตเร็วก็คือ การระบายน้ำและการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำทุกวัน 
                การเลี้ยงลูกปลาทองหรือการอนุบาลจำเป็นต้องอาศัยสังเกตุเป็นหลัก การจะกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนกระทำได้ยาก เริ่มจากลูกปลาที่ฟักออกจากไข่ ในช่วงแรกจะมีถุงอาหาร (Yolk Sac) ติดอยู่ที่หน้าท้อง ลูกปลาจะยังไม่กินอาหาร สังเกตุได้จากการที่ลูกปลาจะเกาะอยู่ที่รังหรือผนังบ่อ เมื่อลูกปลาใช้อาหารจากถุงอาหารหมดแล้วลูกปลาจึงจะว่ายน้ำตามแนวระดับไปเรื่อยๆเพื่อหาอาหารกิน ควรดำเนินการให้อาหารดังนี้
8.1 ช่วงแรก   เนื่องจากปลาทองเป็นปลาที่กินอาหารได้แทบทุกชนิด จัดว่าเป็นปลาที่กินอาหารได้ง่าย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาหารที่มีชีวิตในการอนุบาลลูกปลาทอง การอนุบาลลูกปลาทองเลือกใช้อาหารได้ดังนี้
               ไข่ต้ม  ใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดต้มสุก แล้วเอาเฉพาะไข่แดงไปขยี้น้ำผ่านผ้าไนล่อนหรือกระชอน จะได้น้ำไข่แดงเหมือนน้ำตะกอน นำไปสาดให้ปลากิน ควรใช้ไข่แดงเลี้ยงลูกปลาเป็นเวลา 3 วัน ลูกปลาจะเคยชินกับการกินอาหารและกินอาหารเก่ง ขนาดของลูกปลาก็จะโตขึ้นอย่างเด่นชัด
.
ภาพที่ 28  ลักษณะของลูกปลาทองที่ยังไม่ได้กินอาหาร (ซ้าย)
                                               กับที่ได้กินไข่ต้มแล้วที่ส่วนท้องจะมีสีขาว (ขวา)  
.
ภาพที่ 29  แสดงการใช้ไข่แดง
ขยี้ผ่านผ้าขาวบางเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงลูกปลาทอง  
.
                 อาหารผง ใช้อาหารผงอนุบาลลูกปลาดุก ใช้ให้ต่อจากการใช้ไข่ต้มได้เลย โดยในช่วงแรกควรให้โดยโปรยลงบนผิวน้ำ อาหารจะค่อยๆจมตัวลง เลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 5 วัน  จากนั้นควรเปลี่ยนวิธีให้จากการโปรยอาหารลงผิวน้ำ เป็นนำอาหารผงมาคลุกน้ำพอหมาดๆ   อาหารพวกนี้จะมีคุณสมบัติในการปั้นก้อนได้ดี แล้วจึงนำไปให้ปลา ลูกปลาก็จะมาตอดกินอาหารได้เอง
                สำหรับในเรื่องของปริมาณอาหารที่จะให้ปลานั้น เนื่องจากลูกปลามีขนาดเล็กมากการกำหนดปริมาณอาหารเป็นจำนวนตายตัวนั้นค่อนข้างยาก เช่นการใช้ไข่แดง ปริมาณที่จะให้แต่ละมื้อจะใช้ประมาณเท่าเมล็ดถั่วแดงต่อลูกปลาที่เกิดจากแม่ปลา 1 แม่  ผู้เลี้ยงต้องอาศัยการสังเกตและการเอาใจใส่ค่อนข้างมาก การให้อาหารมากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสีย ลูกปลาจะยิ่งเติบโตช้าและมักจะติดเชื้อเกิดโรคระบาดตายเกือบหมด แต่ถ้าน้อยเกินไปลูกปลาก็จะโตช้าและมักจะมีขนาดแตกต่างกันอย่างมาก โดยจะมีลูกปลาขนาดโตไม่กี่ตัว วิธีการกะปริมาณอาหารที่ดีคือ ผู้เลี้ยงจะต้องดูจากตัวลูกปลาภายหลังจากที่ให้อาหารไปแล้วประมาณ 15 - 20 นาที ใช้แก้วน้ำตักลูกปลาขึ้นมาดู ถ้าเป็นช่วงที่ให้ไข่แดงเป็นอาหาร จะเห็นว่าที่บริเวณท้องของลูกปลาจะมีสีขาว ถ้าเป็นอาหารผงท้องจะเป็นแนวดำดังนั้นถ้าเห็นว่าลูกปลาทุกตัวมีอาหารที่บริเวณท้องเป็นแนวยาวตลอด ก็แสดงว่าอาหารพอ แต่ถ้าเห็นว่าลูกปลาบางส่วนมีอาหารที่ท้องอยู่น้อยก็แสดงว่าอาหารไม่เพียงพอ ควรให้อาหารเพิ่มอีก
                หมายเหตุ ช่วงนี้ควรให้อาหารวันละ 3 ครั้ง  คือ เช้า กลางวัน และเย็น
8.2 ช่วงหลัง   ถึงแม้ลูกปลาจะกินอาหารผงได้ดี แต่อาหารผงก็มีข้อเสียที่มักมีการแตกตัวและกระจายตัวได้ง่ายซึ่งเป็นบ่อเกิดของน้ำเสีย ดังนั้นเมื่ออนุบาลลูกปลาในช่วงแรกด้วยไข่และอาหารผง เป็นเวลาประมาณ  15 วัน   ก็ควรจะเปลี่ยนมาเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำโดยใช้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงลูกปลาดุกเล็กระยะแรก ให้ลูกปลาได้เลยจะเห็นว่าอาหารจะลอยตัวอยู่ผิวน้ำ จากนั้นประมาณ 15 - 20 นาที อาหารจะพองขยายตัวขึ้นและนิ่ม ในวันแรกลูกปลาจะยังไม่เคยชินกับอาหารลอยน้ำ ฉนั้นให้ใช้นิ้วบีบอาหารที่ลอยอยู่บางส่วนให้จมตัวลง และมีอาหารลอยน้ำเหลืออยู่บ้าง ทำเช่นนี้ประมาณ  3 วัน ลูกปลาจะเคยชินกับการกินอาหารเม็ดลอยน้ำได้ดี     
            ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญ  คือ การทำความสะอาดบ่ออนุบาล โดยเฉพาะในการอนุบาลช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไข่แดงหรืออาหารผงให้เป็นอาหารลูกปลา ทั้งไข่แดงและอาหารผงจะเหลือตกตะกอนเป็นเมือกอยู่ที่พื้นก้นบ่อเป็นประจำทุกวัน ดังนั้นหลังจากให้อาหารเช้าแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง ควรทำความสะอาดผนังและพื้นก้นบ่อโดยใช้ฟองน้ำค่อยๆลูบไปตามผนังและพื้นก้นบ่อให้ทั่ว ถ้าเป็นบ่อที่มีระบบกรองที่ดี ตะกอนเมือกที่ถูกขัดออกมาก็จะถูกขจัดออกได้โดยง่าย  
.
ภาพที่ 30  แสดงลักษณะบ่อดินขนาด 400- 500 ตารางเมตร ที่ใช้อนุบาลลูกปลาทอง
                                                                                                                               
                    เป็นการเลี้ยงเพื่อให้ปลาทองมีขนาดใหญ่เหมาะสมที่จะส่งตลาดต่อไป บ่อเลี้ยงปลาทองควรเป็นบ่อซีเมนต์ มีขนาด 2 - 4 ตารางเมตร และควรมีจำนวนหลายบ่อ หากต้องการให้ ปลาเจริญเติบโตเร็วจะต้องจำกัดจำนวนปลาที่ปล่อยเลี้ยง โดยปล่อยในอัตรา 50 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ควรทยอยคัดปลาจากบ่ออนุบาลมาปล่อยลงบ่อเลี้ยง จากนั้นเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดประมาณ 40 - 60 วันปลาจะเติบโตจนสามารถส่งจำหน่ายได้ เมื่อส่งปลาออกจำหน่ายแล้วก็ทยอยคัดปลาจากบ่ออนุบาลมาปล่อยเลี้ยงอีกต่อไป สำหรับลูกปลาที่เหลืออยู่ในบ่ออนุบาลซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีการให้อาหารดีและมีการถ่ายน้ำสม่ำเสมอ ลูกปลาก็จะเจริญเติบโตขึ้นไม่มากนักเนื่องจากจำนวนปลาเป็นข้อจำกัด แต่เมื่อถูกกระจายออกไปยังบ่อเลี้ยงก็จะสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้
            ปัจจุบันมีการอนุบาลและเลี้ยงปลาทองในบ่อดิน  โดยใช้บ่อขนาด 100 - 200 ตารางเมตร
.
ตัวอย่างฟาร์ปลาทองที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีบ่อซิเมนต์ 487 บ่อ ในพื้นที่ 2 ไร่
ปลาสิงห์ญี่ปุ่นเกรดเอ รอจำหน่ายอุปกรณ์ในการล้างบ่อ
เติมด่างทับทิมฆ่าเชื้อป้องกันโรคบ่อดินสำหรับอนุบาลลูกปลา
 ภาพที่ 31  ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาทองที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
.
 ภาพที่ 32  ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาทองในประเทศจีน มีการจัดทัวร์ชมฟาร์ม 
                                           ที่มา : Vermilliongoldfishclub.com (2006)                          
 . 
 
 ภาพที่ 33  ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาทอง( Siamaquarium )ในประเทศไทย 
                                             ที่มา : Siamaquarium.com (2010)  



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น