วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ชิธีทำให้น้ำในตู้ปลาใส ตอนที่1


เคยสังเกตในตู้ปลาที่บ้านตัวเองบ้างไหมครับ ว่าทำไมน้ำไม่ใสสะอาด ดูเป็นฝ้าขุ่นบ้าง ดูมีฝุ่นตะกอนฟุ้งไปฟุ้งมาบ้าง ทั้งที่ก็เปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่เป็นประจำ ไปถามตามร้านขายปลาว่าควรทำอย่างไร พวกก็แนะนำยานู่นยานี่มาเป็นหอบใหญ่ ทั้งยาฆ่าคลอรีน ยาฆ่าเชื้อ ยาฆ่าพยาธิ มาลาไคท์กรีน เกลือ ยาทำน้ำใส ฯลฯ อ้างว่าต้องใส่หลังเปลี่ยนถ่ายน้ำ จะทำให้น้ำนั้นทั้งใสทั้งสะอาดและปราศจากเชื้อโรคมาแผ้วพาน อุตส่าห์ทำตามเขาว่าอยู่พักใหญ่ น้ำก็ไม่เห็นจะใสขึ้นกว่าเดิมสักกี่มากน้อย เสียทั้งอารมณ์และสตางค์ จนหลายคนเบื่อแทบอยากเลิกเลี้ยงปลาไปเลย


ความจริงแล้วการทำให้น้ำในตู้ปลาใสสะอาดนั้นไม่ยากเลย แถมยังไม่ต้องเสียสตางค์ไปซื้อน้ำยาสารพัดมาเติมหลังเปลี่ยนถ่ายน้ำด้วย ขอแค่ทำความเข้าใจในเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ คุณ ๆ ก็จะมีตู้ปลาที่น้ำใสแจ๋วดังวอดก้าสเมอร์นอฟไว้เชยชมสมใจครับ

องค์ประกอบที่ทำให้น้ำในตู้ปลาใสมีดังนี้

1 ระบบกรองดี

2 เลี้ยงปลาไม่หนาแน่น

3 ให้อาหารพอสมควร

4 เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ



เริ่มเลยนะครับ 1 ระบบกรองดี

ระบบกรองน้ำในตู้ปลาให้ประโยชน์หลายอย่าง อาทิ ช่วยดักเก็บฝุ่นตะกอนที่ลอยฟุ้ง ช่วยลดความเป็นพิษในน้ำอันเกิดจากขี้ปลาและเศษอาหารที่ตกค้าง และช่วยยืดระยะเวลาของการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้นานกว่าเดิม ตู้ปลาที่ไม่มีระบบกรอง (มีแต่ฟองอากาศให้ออกซิเจน) น้ำจะสะอาดอยู่ได้ไม่กี่วัน เผลอ ๆ อาจจะไม่กี่ชั่วโมงด้วยซ้ำหากว่าเลี้ยงปลาหนาแน่น เมื่อปลาขับถ่ายออกมาก็กลายเป็นของเสียกลิ้งไปมาตามพื้นตู้ ที่แตกยุ่ยเป็นผงก็ลอยคว้างเกะกะลูกตา ของเสียทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย สีของน้ำจะขุ่น คุณภาพน้ำเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างด่วนปลาก็อาจจะตายได้จากพิษของบรรดาของเสียที่ว่ามานี้

ระบบกรองน้ำในตู้ปลามีหลักการทำงานง่าย ๆ คือทำให้น้ำเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่อดักเก็บตะกอนกายภาพไม่ให้ลอยฟุ้งและบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแอมโมเนียให้มีคุณภาพดีขึ้น ระบบกรองที่ดีมักเป็นระบบกรองชีวภาพ (Biological Filter) คือใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของแบคทีเรียที่มีศักยภาพในการย่อยสลายแอมโมเนียซึ่งมีความเป็นพิษมาก ให้กลายเป็นไนไตรท์ที่มีความเป็นพิษน้อยกว่า และจากไนไตรท์ก็ย่อยให้กลายเป็นไนเตรทซึ่งมีความเป็นพิษต่ำสุด ในระบบกรองนอกจากจะมีแผ่นใยสังเคราะห์สำหรับดักจับตะกอนกายภาพแล้ว ยังจะต้องมีพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับใส่วัสดุเพาะเชื้อ หรือตัวกลาง (Media Filter) ให้แบคทีเรียชนิดดีมาอยู่อาศัย ยิ่งมีแบคทีเรียชนิดดีมากก็จะยิ่งบำบัดน้ำเสียได้ดีขึ้น นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมใส่ยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ หลังเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้แล้วน้ำก็ไม่ใสเสียที นั่นก็เพราะยาที่ว่ามันไปฆ่าแบคทีเรียที่มีประโยชน์หมดนั่นเอง

ปัจจุบันมีผู้คิดค้นเครื่องกรองน้ำในตู้ปลาออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่นกรองแผ่นใต้พื้นกรวด (Undergravel Filter) กรองกระป๋อง (Corner Filter) กรองโฟม (Sponge Filter) กรองข้างตู้ (Internal Filter) กรองนอกตู้ (External Filter หรือ Canister Filter) กรองแขวน (Hang On Filter) จะเลือกใช้แบบไหนขึ้นอยู่กับขนาดของตู้และความต้องการของผู้เลี้ยงครับ เช่นเอาง่ายหน่อยก็เลือกกรองกระป๋อง กรองโฟม ซึ่งมีขนาดเล็ก ราคาถูกและติดตั้งง่าย ใช้ปั๊มลมเป็นเครื่องกำเนิดพลังงาน ทำให้น้ำค่อย ๆ เคลื่อนตัวผ่านกรองที่มีใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ (โฟม) ฝุ่นตะกอนจะถูกดักไว้และแบคทีเรียที่สามารถอาศัยได้ในเนื้อใยสังเคราะห์ (ไม่มากนัก) ก็จะช่วยบำบัดน้ำอีกชั้นหนึ่ง กรองแบบนี้โดยมากมักใช้กับตู้ขนาดเล็ก มีข้อเสียคือต้องเอาออกมาซักล้างบ่อยมากและมีประสิทธิภาพต่ำ ถ้าใช้กับตู้ใหญ่หรือตู้ที่เลี้ยงปลาหนาแน่นก็จะดูไม่ได้ผลนัก

กรองใต้กรวด (Undergravel Filter) มีลักษณะเป็นแผ่นตะแกรงพลาสติกยกพื้นสูงสักสองเซนติเมตร วางคว่ำลงกับพื้นตู้แล้วปูกรวดทับจะเกิดช่องว่างข้างใต้ มุมหนึ่งของแผ่นกรองจะมีท่อยกสูง ฐานของท่อมีช่องเสียบสายออกซิเจน หลักการทำงานคือใช้ปั๊มลม อัดลมลงไปตรงฐานของท่อ อากาศจะหาทางออกมาคือปากท่อที่ยกสูงนั้น น้ำจะเกิดการเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ผ่านชั้นกรวดลงมาและวนออกทางท่อด้วยเช่นกันทำให้เกิดการไหลเวียน ฝุ่นตะกอนของเสียจะตกลงข้างล่างและถูกชั้นกรวดซับเอาไว้ไม่ให้กลับไปสร้างความปั่นป่วน ส่วนในชั้นกรวดเองก็จะมีแบคทีเรียชนิดดีมาอยู่อาศัยคอยบำบัดให้น้ำเสียเป็นน้ำที่ดีขึ้น กรองแบบนี้เป็นกรองที่ใช้กันมานมนาน จนปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ ทว่าโดยมากใช้กับตู้ขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่เลี้ยงปลาไม่หนาแน่นนัก ข้อดีคือราคาถูก ใช้งานได้เยี่ยมในระดับหนึ่ง ข้อเสียคือต้องคอยไซฟอนชั้นกรวดให้บ่อย และไม่สามารถใช้ได้กับบรรดาปลานักขุดทั้งหลาย เช่นปลาหมอสีและปลาแคทฟิชหลายชนิด
 
กรองใต้กรวด
 ระบบกรองที่ดีขึ้นมาและได้รับความนิยมมากที่สุดขณะนี้คือกรองในตู้ (Internal Filter) เป็นกรองที่ใช้วิธีกั้นมุมหนึ่งของตู้ให้เป็นพื้นที่ของระบบกรอง ใช้ปั๊มน้ำเป็นตัวขับเคลื่อนให้น้ำไหลเวียนเข้าระบบ ผ่านชั้นใยสังเคราะห์ ชั้นวัสดุเพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดดี ก่อนจะถูกส่งกลับเข้าไปในตู้หลักอีกครั้ง กรองแบบนี้มีประสิทธิภาพมาก สามารถใช้กับตู้ปลาได้แทบทุกขนาด แต่มีข้อเสียคือทำให้ลดพื้นที่ภายในตู้ปลา ทำให้ทัศนวิสัยในการมองปลาไม่งดงามนัก และดูแลทำความสะอาดค่อนข้างยาก ยิ่งถ้าเป็นตู้ใหญ่ ๆ ที่มีระดับความสูงมาก การล้วงลงไปเอาวัสดุกรองต่าง ๆ ออกมาล้างอาจจะไม่สะดวกนัก


กรองแขวน (Hang On Filter) ก็เป็นอีกระบบที่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีขนาดเล็กกะทัดรัด ใช้ง่ายและดูเท่สวยงาม เกาะอยู่ขอบตู้ด้านนอกยื่นลงไปเพียงท่อใสเพื่อดูดเอาน้ำในตำแหน่งต่ำสุดของตู้ขึ้นมาบำบัดและส่งกลับลงไปในลักษณะเหมือนม่านน้ำตก ทำให้การไหลเวียนในน้ำดีมาก ทัศนวิสัยในตู้ดูไม่รกตา แต่ก็มีข้อเสียคือกรองได้แต่ตะกอนของเสียกายภาพ ส่วนการเพาะแบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยบำบัดน้ำทำได้น้อยมาก จึงใช้ได้กับเฉพาะตู้ขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น

กรองนอกตู้ (External Filter หรือ Canister Filter) เป็นระบบกรองที่ได้รับความนิยมสำหรับนักเลี้ยงที่มีทุนทรัพย์ขึ้นมาอีกสักหน่อย จริงอยู่ว่าเดี๋ยวนี้กรองนอกตู้ไม่แพงเหมือนสมัยก่อนเพราะผลิตโดยประเทศจีน แต่ก็ยังถือว่าราคาสูงอยู่ดีหากเทียบกับกรองระบบอื่น ๆ ที่กล่าวมา

 
กรองนอกตู้
 
กรองนอกตู้มีลักษณะเหมือนปิ่นโตสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ ข้างในเป็นช่องว่างบรรจุถาดที่สามารถวางซ้อนกันได้ 2-3 ถาด แต่ละถาดใช้บรรจุวัสดุกรอง อาทิ ฟองน้ำ ใยสังเคราะห์ วัสดุเพาะเชื้อ แอคติเวทเต็ทคาร์บอน พลังงานขับเคลื่อนอยู่ที่ตัวปั๊มที่ติดตั้งไว้ส่วนบนของถังกรอง ติดตั้งกรองไว้ต่ำกว่าตู้ มีสายยาง 2 สายเชื่อมต่อระหว่างกัน สายหนึ่งน้ำเข้า อีกสายน้ำออก หลักการทำงานคือปล่อยให้น้ำในตู้ไหลลงมาในระบบ น้ำจะไหลผ่านชั้นกรองต่าง ๆ ทั้งกายภาพและชีวภาพ ขั้นตอนสุดท้ายปั๊มที่อยู่ส่วนบนจะดูดน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วกลับสู่ตู้ด้านบน ระบบกรองนอกตู้นี้มีประสิทธิภาพสูงมากและสะดวกเวลาถอดล้างทำความสะอาด อีกทั้งยังไม่ทำให้ทัศนวิสัยในตู้ดูขี้เหร่ เหมาะกับตู้ปลาขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ข้อเสียคืออย่างที่บอก ราคาสูงหน่อย (แต่คุ้ม) ติดตั้งค่อนข้างยาก (สำหรับคนเคยใช้ครั้งแรก) 

ที่มา...http://finchompla.blogspot.com/2011/05/blog-post.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น