วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

น้ำในตู้ปลาใสได้อย่างไร ตอนที่ 2




ทวนความจำกันนิด ว่าน้ำในตู้ปลาจะใสแจ๋วได้ด้วยหลัก 4 ประการ คือ


1 ระบบกรองดี

2 เลี้ยงปลาไม่หนาแน่น

3 ให้อาหารพอสมควร

4 เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ

คราวก่อนคุยถึงข้อที่ 1 คือระบบกรองดีกันไปแล้ว มาว่าข้อต่อไปกันเลยดีกว่านะครับ



2 เลี้ยงปลาไม่หนาแน่น

เปรียบตู้ปลาเป็นห้องห้องหนึ่ง ส่วนปลานั้นก็เปรียบเป็นคน หากมีคนอาศัยอยู่ในห้องนั้นสักคนสองคน ก็ยังอยู่กันได้สบาย ๆ ไม่อึดอัด ทำความสะอาดก็ง่ายและไม่ต้องบ่อยมาก เพื่อนร่วมห้องแต่ละคนยังมีพื้นที่รอบตัวให้พอสบาย สุขภาพจิตก็จะดี ยิ้มแย้มแจ่มใสให้กันได้ ในขณะที่ห้องอีกห้องหนึ่งมีขนาดเท่ากัน แต่กลับจุคนเข้าไปตั้งสิบคน รับรองว่าห้องนี้ไม่น่าอยู่แน่ เพราะมันจะแออัดยัดเยียดเบียดเสียด ต้องแย่งกันทั้งพื้นที่และอากาศหายใจ ความสกปรกก็เกิดขึ้นง่ายต้องทำความสะอาดกันถี่ยิบบ่อยครั้ง สุขภาพจิตของสมาชิกในห้องคงไม่ต้องบอกก็พอจะรู้ว่าไม่ต่างอะไรกับนักโทษในคุกลาดยาว ขยับนิดก็กระทบกระแทกกัน หายใจก็รดหน้ากันไปกันมา สายตาก็ขวางเหมือนสุนัขกลางอากาศร้อนเปรี้ยง พานจะมีเรื่องใส่กันตลอดเวลา บ้างก็เครียดจนป่วย บางโรคติดต่อกันได้ก็พาเอาเพื่อนร่วมห้องติดกันระงม

ตู้ปลาสมัยนี้มักมีระบบกรองน้ำในตัว ช่วยชะลอให้คุณภาพของน้ำเสียช้าลง ทำให้น้ำใส ปลามีสุขภาพแข็งแรง แต่นั่นจำเป็นต้องใส่ปลาให้พอเหมาะกับขนาดของตู้ หากจำนวนปลามีความหนาแน่นมากเกินไป ปัญหาต่าง ๆ ก็จะตามมาในเวลารวดเร็ว เช่นน้ำขุ่นเต็มไปด้วยของเสียที่ปลาขับถ่าย น้ำมีกลิ่นเหม็น ปลามีความเครียดสูง ไม่มีความสุข สีสันซีดหรือดำคล้ำ สุขภาพย่ำแย่มีอาการเจ็บป่วยเป็นประจำ

หลายท่านนิยมเลี้ยงปลาทองเป็นจำนวนเลขมงคล เช่น 9 ตัว แต่ตู้มีขนาดเล็กมาก ปลาว่ายกันขลุกขลักกลิ้งไปกลิ้งมาไม่มีความสุขเลยสักนิด แบบนี้เลี้ยงได้หน่อยก็มักพบว่าปลาป่วย ตายบ่อยต้องคอยซื้อเปลี่ยน และน้ำไม่เคยใสกับเขาเลยสักครั้ง

จะรู้ได้อย่างไร ว่าตู้ปลาที่บ้านหนาแน่นเกินไปหรือยัง?

เอาแบบง่าย ๆ ครับ คือใช้ความรู้สึก ถ้ามองตู้แล้วรู้สึกว่ายังมีที่ว่างให้ปลาแต่ละตัวว่ายไม่กระทบกระทั่งกัน มองไปยังเห็นที่เปล่า ๆ ปราศจากปลาบ้างในบางจุด อย่างนี้ก็ยังถือว่าพอได้ แต่ถ้ามองไปตรงไหนก็มีแต่ปลา แออัดเบียดเสียด อย่างนี้ก็เรียกว่าแน่นมากไปแล้ว

กับอีกแบบที่อาจยุ่งยากกว่านิดหน่อย แต่ชัวร์กว่า คือใช้หลักคำนวณปริมาตรน้ำต่อปลาที่เลี้ยง วิธีการนี้ไม่ค่อยนิยมใช้ในบ้านเราเท่าใดนัก แต่ผมชอบใช้ในการประเมินเวลาใครมาถามว่าตู้ขนาดนี้ควรจะเลี้ยงปลาได้กี่ตัว คำนวณให้เสร็จสรรพก่อนไปหาซื้อปลา จะได้ไม่เผลอซื้อมาเยอะเกิน

การคิดก็ไม่ยากหรอกครับ เช่นถ้าจะเลี้ยงปลาขนาดเล็ก ๆ เป็นฝูง ๆ ยกตัวอย่างพวกปลาในกลุ่มเตตร้า กลุ่มซิวแคระ ก็ใช้สูตรปลา 1 ซ.ม. ต่อน้ำ 1 ลิตร เวลาคิดจริง ๆ ก็เอาปริมาตรของน้ำในตู้ หารด้วยขนาดเมื่อโตเต็มที่ของปลาที่เลี้ยง (maximum size) 1 ตัว ก็จะได้จำนวนของปลาที่สามารถเลี้ยงได้ ดังนี้ครับ



จำนวนปลา=(ปริมาตรน้ำในตู้ (ลิตร))/(ขนาดของปลา (ซ.ม.))

เช่นน้ำ 100 ลิตร สามารถเลี้ยงปลาคาร์ดินัลเตตร้าที่มีขนาดเมื่อโตเต็มที่ 5 ซ.ม. ได้ 20 ตัว เป็นต้น



สูตรการคำนวณปริมาตรน้ำในตู้ปลา



ปริมาตรน้ำ (ลิตร)=(กว้าง x ยาว x สูง)/1000



กรณีปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา เช่นปลาทอง ก็สามารถคำนวณง่าย ๆ ว่าปลา 1 ตัวต้องการน้ำอย่างน้อย 35 ลิตร ถ้าตู้จุน้ำ 100 ลิตรก็สามารถเลี้ยงได้ 3 ตัว ถ้าต้องการเลี้ยงปลาทอง 9 ตัวให้อยู่อย่างสบาย ๆ ดูแลง่าย ก็ต้องเลี้ยงในตู้ที่มีความจุน้ำ 315 ลิตร



จำนวนปลาทอง=(ปริมาตรน้ำในตู้ (ลิตร))/35





ทว่าในความเป็นจริงเราอาจใช้สูตรนี้ไม่สะดวกนัก เพราะประการแรก ปลาที่เลี้ยงแบบรวมจะมีขนาดเมื่อโตเต็มที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ยิ่งตู้ที่เลี้ยงคละเป็นสหประชาชาติคงปวดหัวตึบหาเครื่องคิดเลขมาดีดกันวุ่นวาย และประการที่สอง หากใช้สูตรนี้จริง การเลี้ยงปลาในระยะแรกตู้คงดูโหรงเหรง เนื่องจากธรรมชาติของคนเลี้ยงปลามักไม่ซื้อปลาที่โตแล้วมาเลี้ยง จะเลี้ยงกันตั้งแต่ลูกปลาเพื่อจะได้เห็นได้ดูการเจริญเติบโตของพวกมันมากกว่า แต่ถ้าเป็นไปได้ การคำนวณเพื่อให้รู้ขีดความสามารถในการรองรับจำนวนปลาของตู้ที่เรามีอยู่ ก็ทำให้การเลี้ยงเป็นไปได้ง่ายขึ้น สบายขึ้น รู้ว่าควรจะหาซื้อปลามาเลี้ยงได้สักกี่ตัว อาจใส่เกินจำนวนได้นิดหน่อย แต่ก็อย่าให้มันเว่อร์เกินไปนัก

ตามร้านขายปลา เรามักเห็นปลาในตู้ว่ายกันพล่าน บางตู้จุน้ำไม่ถึงร้อยลิตร อัดปลาหางนกยูงเข้าไปเป็นร้อยตัว สภาพน้ำก็ยังเห็นใสดี สิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่น่าจะต้องเห็นกลับมีไม่มากอย่างที่ควร นั่นก็เพราะร้านขายปลาเขามีการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำกันแทบทุกวันครับ บางร้านที่ลงปลาหนาแน่นเกินขีดจำกัดปลาก็มีปัญหาป่วยตายเหมือนกัน ผมเคยเห็นร้านขายปลาบางร้าน เจ้าของต้องเก็บศพปลาตามตู้เสียก่อนเป็นอันดับแรกก่อนเปิดร้าน พอลูกค้ามาดูก็รับประกันแข็งแรงว่าปลาร้านผมสุขภาพดีทุกตัว (เพราะตัวที่สุขภาพไม่ดีมันอำลาโลกไปแล้วไง)

คนที่เลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรกคงไม่อยากเพิ่มภาระให้ตัวเองโดยการต้องมาเปลี่ยนถ่ายน้ำปลาทุกวัน หรือวันเว้นวันหรอกครับ (ยกเว้นคนที่เอาจริงเอาจังเป็นพิเศษ เรียกว่าประเภทฮาร์ดคอร์) ส่วนมากก็อยากนั่งดูปลาหลังกลับจากทำงานหรือกลับจากเรียน ได้พักผ่อนสมองด้วยการดูปลาแหวกว่ายในน้ำใสแจ๋วอย่างผ่อนคลาย เลี้ยงปลาด้วยจำนวนที่เหมาะสม ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปลาก็มีความสุข คนเลี้ยงก็มีความสุข (และไม่เหนื่อย) ส่วนคนที่เลี้ยงโดยขาดหลักการ โหมซื้อปลามาจนแน่นตู้ ปลาป่วยตายก็หามาเพิ่มไม่ยอมหยุด อย่างนี้คงต้องเหนื่อยหน่อยครับถ้าจะให้น้ำในตู้ใสสะอาด 


ที่มา...http://finchompla.blogspot.com/2011/09/2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น