วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

หลักการป้องกันรักษาโรคปลาสวยงาม


การป้องกัน
              การรักษาโรคสัตว์น้ำทำได้ยาก และสิ้นเปลืองเวลาค่าใช้จ่าย เพราะยารักษามีราคาแพง  ดังนั้น การป้องกันโรคปลาจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ผู้เลี้ยงปลาควรเอาใจใส่ โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มต้นในการเตรียมสถานที่หรือตู้ปลา การขนส่งลำเลียงปลามายังสถานที่เลี้ยง  การเลี้ยงดูให้อาหาร  การระบายของเสียหรือถ่ายเทน้ำให้มีคุณภาพดีอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงสามารถช่วยให้ปลามีสุขภาพดี ปราศจากโรคได้ ความเข้มงวดตั้งแต่เรื่องสถานที่ต้องพิจารณาจากการระบาดของโรคในอดีต  แหล่งน้ำที่นำมาใช้เลี้ยงว่ามีปริมาณเพียงพอและคุณภาพดีเหมาะสมหรือไม่ ผู้เลี้ยงควรดูแลในเรื่องสาธารณสุขของสถานที่ และตู้ปลาที่ใช้เลี้ยง  ควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับปรับคุณภาพน้ำให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา และติดตามด้วยการนำพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพสุขภาพดี รู้ประวัติ และแหล่งที่นำมาอย่างดี ควรเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ การลำเลียงขนส่งควรระมัดระวังอย่าขนส่งไกลเกินไป หรือใช้ระยะเวลาในการขนส่งนาน เพราะปลาอาจบอบช้ำมีอาการกระวนกระวายทำให้เสียงพลังงานร่างกายอ่อนเพลียจนติดโรคง่าย  ควรใส่เกลือความเข้มข้นร้อยละ 0.1 - 0.5 และยาเหลือง ร้อยละ 1-3 ต่อปริมาณน้ำที่ใช้ และทำให้อุณหภูมิต่ำเพื่อลดการกระวนกระวาย การปล่อยก็ควรมีการปรับสภาพให้เหมาะสมก่อนปล่อยและต้องกระทำเสมอก่อนปล่อยปลาลงบ่อเลี้ยง คือ การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ติดมากับตัวปลาโดยการแช่ดิฟเทอร์เร็กซ์เข้มข้น 0.05 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร นาน 3 - 4 ชั่วโมง และอาจแช่ฟอร์มาลีนและยาความเข้มข้น 25 ส่วนในล้านส่วน เพื่อให้มั่นใจมากขึ้น อัตราการปล่อยไม่ควรหนาแน่นเกินไป เพราะนอกจากทำให้ไม่สวยงามแล้วยังทำให้ปลาเครียด และอ่อนแอ การเลี้ยงควรให้อาหารแต่พอดีไม่ควรให้มากเกินไปเพราะทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมถอยเร็ว และมั่นดูแลอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับปลาในขณะทำการเลี้ยง  หากมีอาการผิดปกติควรทำการวินิจฉัยโรคให้เด่นชัด และดำเนินการรักษาอย่างรีบด่วนในขั้นตอนต่อไป
              การรักษา
              การป้องกันโรคอย่างดีที่สุด อาจหลีกเลี่ยงการป่วยไม่ได้ในบางครั้ง  ดังนั้น  เราควรรู้วิธีการรักษาไว้ด้วย โดยพิจารณาจากคุณภาพน้ำก่อนอื่น และตามด้วยขั้นตอนการศึกษาหาความรู้ในด้านต่าง ๆต่อไป ดังนี้คือ
                  1 ผู้เลี้ยงต้องมีความรู้เกี่ยวกับน้ำ ผู้เลี้ยงต้องศึกษาคุณภาพของน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา และการคำนวณปริมาตรของน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาอย่างถูกต้อง เพื่อนำมาประกอบใช้สำหรับการใส่ปริมาณของสารเคมีรักษาโรคปลาเนื่องจากสารเคมีที่ใส่ลงไปอาจเจือจางเกินไปจนไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ มีผลทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือเข้มข้นมากเกินไปจนทำให้ปลาเป็นอันตราย และตายได้ นอกจากนี้คุณสมบัติของน้ำก็มีความสำคัญมากเหมือนกันเช่น ความเป็นกรดเป็นด่าง ความกระด้าง และอุณหภูมิ เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อความเป็นพิษของสารเคมีบางอย่าง
                  2 ผู้เลี้ยงต้องมีความรู้ในการรักษาปลาแต่ละชนิด และขนาดของปลา เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการใช้สารเคมี และยาแตกต่างกัน ปลาบางอย่างมีความไวต่อสารเคมีบางชนิด อายุ และขนาดของปลาก็มีผลต่อการใช้สารเคมี ปลาที่มีขนาดเล็กอายุน้อยมีความทนทานต่อสารเคมี และยา ได้น้อยกว่าปลาที่มีขนาดใหญ่ วิธีการที่ดีที่สุดควรทดสอบการใช้สารเคมีกับปลา 4-5 ตัว ก่อนที่นำไปใช้รักษาปลาทั้งตู้ การทดลองยาอาจกระทำในถังน้ำขนาดเล็กก็ได้
                  3 ผู้เลี้ยงต้องรู้จักสารเคมีอย่างดี ตลอดจนรู้จักระดับความเป็นพิษของสารเคมี หรือยาที่ใช้รักษาปลาเนื่องจากสารเคมีบางอย่างสลายตัวได้เร็วเมื่อมีแสงแดด การใช้สารเคมีผสมกัน อาจทำให้ความเป็นพิษเพิ่มมากขึ้น หรือหักล้างพิษซึ่งกันจนไม่มีผลในการรักษา
                  4 ผู้เลี้ยงควรรู้จักโรคที่ทำการรักษาว่ามีความสัมพันธ์กับสารเคมี และยา ที่ใช้ในการรักษาโรคหรือไม่เพราะยาแต่ละชนิดจะมีขอบเขตจำกัดในการฆ่าเชื้อบางอย่างเท่านั้น การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องตลอดจนการเลือกใช้ยาและสารเคมีที่ให้ผลดีในการรักษาโรคจะลดการสิ้นเปลืองได้อย่างดี
             
วิธีการรักษาโรคปลา

                  1 วิธีการรักษาโรคโดยการปรับสภาพของน้ำที่เลี้ยงในตู้ปลา เนื่องจากการที่ปลาป่วยเป็นโรคนั้น อาจเกิดจากโรคมีเชื้อ หรือไม่มีเชื้อก็ได้ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปลาสวยงาม แต่ไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ผู้เลี้ยงควรปฏิบัติเป็นขั้น  ดังนี้คือ
                  1.1 การเพิ่ม หรือลดอุณหภูมิของน้ำ ในตู้ปลา เพื่อลดหรือช่วยกระตุ้นวงจรชีวิต หรือชีพจักรของเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด
                  1.2 การเพิ่มระดับน้ำ  เพื่อช่วยให้น้ำภายในตู้มีการหมุนเวียน  และช่วยกระตุ้นให้ปลาว่ายน้ำ  และมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น
                  1.3 การให้แอร์ปั๊ม เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำในตู้ปลา ทำให้น้ำมีคุณภาพที่เหมาะต่อดำรงชืวิตและการเจริญเติบโตของปลาสวยงาม
                  1.4 การใส่เกลือลงในตู้ที่ใช้เลี้ยงปลา ช่วยฆ่าเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อปลาสวยงามได้อย่างดี
           
                  2 การใช้สารเคมี สารเคมีที่ใช้ในการรักษาโรคปลามีหลายวิธี ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเลือกใช้ให้ตรงกับชนิดของโรค และความสะดวก ดังนี้
                  2.1 การจุ่ม วิธีการนี้เป็นการจุ่มปลาลงในสารละลายเคมีที่มีความเข้มข้นสูง โดยใช้ระยะเวลาแช่สั้นๆวิธีการนี้อาจเป็นอันตรายต่อปลา เนื่องจากความเข้มข้นของสารเคมีจึงเหมาะจะใช้กับปลาจำนวนน้อยๆ โดยการจับปลาแช่ในสารเคมีเข้มข้น  15-30  นาที
                  2.2 การแช่ระยะสั้น ส่วนใหญ่นิยมใช้กับตู้ปลาขนาดเล็กที่สามารถถ่ายเทน้ำได้สะดวก  โดยใส่สารเคมีลงในตู้ปลาป่วย และทิ้งไว้นานระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนน้ำ ผู้เลี้ยงต้องระมัดระวังอย่าให้สารเคมีทำอันตรายปลาที่เลี้ยง ตามปกติใช้ระยะเวลาในการแช่ประมาณ  1 ชั่วโมง แต่ผู้เลี้ยงต้องคอยเฝ้าอาการผิดปกติของปลาด้วย
                  2.3 การแช่ระยะยาว นิยมใช้กับปลาที่มีขนาดใหญ่ สารเคมีที่ใช้อยู่ในระดับความเข้มข้นต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีรักษาที่ปลาปลอดภัยที่สุด
                  2.4 การใช้สารเคมีผสมอาหาร นิยมใช้กับปลาที่เป็นโรคซึ่งเกิดจากเชื้อบักเตรี และหนอนพยาธิภายในบางชนิดเท่านั้น โดยการผสมสารเคมีลงในอาหารให้ปลาที่ป่วยกินเป็นระยะเวลานาน ๆ และควรให้อาหารผสมยาในขณะที่ปลาหิว อย่างไรก็ดี วิธีการนี้ค่อนข้างสิ้นเปลืองเนื่องจากตัวยาที่ใช้รักษามีราคาแพง  และต้องใช้เวลานาน
                  2.5 การฉีดสารเคมีให้ปลาที่ป่วย นิยมใช้กับปลาที่มีขนาดใหญ่ ราคาแพง โดยเฉพาะปลาที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อาจใช้วิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือช่องท้อง ตัวยาแพร่กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว  การักษาด้วยวิธีนี้ ผู้เลี้ยงควรมีความชำนาญในการฉีดยา มิฉะนั้น ปลาที่เลี้ยงจะบอบช้ำได้ง่าย
              ตามปกติเชื้อที่ทำให้เกิดโรคปลามีหลายชนิด เช่น เชื้อรา เชื้อบักเตรี เชื้อไวรัส เชื้อโปรโตซัว ฯลฯ เชื้อเหล่านี้ คอยเบียดเบียนทำให้ปลาเป็นโรค หรือมีอาการผิดปกติสารเคมีที่ใช้ในการรักษาโรคปลามีทั้งที่อยู่ในรูปของยาผง และยาน้ำ  การใช้สารเคมีในการป้องกันรักษาปลาสวยงาม ผู้เลี้ยงควรใช้หลักในการพิจารณาดังนี้  คือ
                  1 การระบายน้ำเข้าออกภายในตู้ปลา ผู้เลี้ยงต้องมีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากการใช้สารเคมีในบางครั้งปลาสวยงามอาจเกิดอาการแพ้สารเคมี ก็สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที
                  2 การเอาใจใส่ หลังจากใส่สารเคมีลงในบ่อ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องคอยดูการเปลี่ยนแปลงของปลาในตู้โดยเฉพาะหลังจากใส่สารเคมีลงไป 2 ชั่วโมง การใช้สารเคมีรักษาโรคควรกระทำในเวลาเช้า
                  3 ก่อนใช้สารเคมี ผู้เลี้ยงควรพิจารณาสารเคมีที่ใช้ได้ดีเสียก่อน โดยเฉพาะปริมาณการใช้ เช่น เกลือจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ต้องใช้ความเข้มข้นประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์
                  4 อุณหภูมิของน้ำภายในตู้ปลา และสภาพตู้ปลามีผลต่อปฏิกิริยาของสารเคมีหรือไม่ ตามปกติถ้าอากาศร้อน หรือน้ำในตู้ปลามีอุณหภูมิสูง ทำให้สารเคมีออกฤทธิ์เร็ว และหมดฤทธิ์ช้า
                  5 คุณสมบัติทางเคมีของน้ำมีผลต่อฤทธิ์สารเคมีที่ใช้ เช่น ถ้าสภาพของน้ำเป็นกรด ทำให้ด่างทับทิมออกฤทธิ์แรงขึ้น แต่ถ้าน้ำที่มีสภาพเป็นด่าง ฤทธิ์ของด่างทับทิมลดลง
                  6 ปริมาณของพืชน้ำในตู้ปลา การใช้สารเคมีทำให้พืชน้ำถูกทำลายลงไปด้วย และสารเคมีทำอันตรายแพลงค์ตอนที่เป็นอาหารปลา
              กล่าวโดยสรุปผู้เลี้ยงปลาสวยงามต้องมีใจรัก และสนใจดูแลปลาอย่างดี หมั่นหาความรู้ทั้งในเรื่องคุณภาพน้ำ ตัวปลา และโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งค้นคว้าหารายละเอียดเรื่องสารเคมี หรือยาที่เหมาะต่อปลา และสภาพการเลี้ยงนั้น ๆ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการเสียหายก่อนจึงค่อยดำเนินการเพราะทำให้เกิดการสูญเสียจนแก้ไขไม่ได้ ควรใช้วิธีการป้องกันเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา จึงประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงปลาสวยงามตามปรารถนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น