วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

โรคของปลาทองที่เกิดจากแบคทีเรีย


โรคที่เกิดจากแบคทีเรียของปลาสวยงามนั้น  เราควรทำความรู้จักกับโรคต่าง ๆ ดังนี้
                  วัณโรค (mycobacteriosis) เกิดขึ้นได้ในปลาน้ำจืด และน้ำเค็มทุกชนิด เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคนี้คือMycobacterium marinum, M. fortuitum  และ M. piscium พบได้ทั่วโลก อาการที่พบเป็นลักษณะเรื้อรัง ปลาอ่อนแอขาดอาหาร มีการหลุดลอกของเกล็ด และครีบ ตาโปน ผิวหนังอักเสบ และมีแผลหลุมช่องท้องอักเสบ บวมน้ำ มักพบตุ่มสีเทาขาวกระจายทั่วไปในตับ ไต หัวใจ ม้าม และกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติของรูปร่างได้ ถ้านำมาเพาะเชื้อจะพบเชื้อวัณโรคอยู่ โรคนี้ติดต่อได้โดยการกิน ติดต่อจากแม่ผ่านไข่ในปลาที่ออกลูกเป็นตัว หรือติดต่อผ่านน้ำที่มีเชื้ออยู่ได้โดยจะเกิดเป็นตุ่มหนองขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อ
              การรักษาวัณโรคทำได้ยาก เพราะปัจจุบันเชื้อจะดื้อต่อยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ ต้องใช้  isoniazid หรือยาอื่น ๆ ที่ให้ผลบวกในการทดสอบความไวต่อเชื้อโดยอาจต้องใช้หลายชนิดผสมกัน เช่น  doxycycline ผสมกับrifampin จึงต้องระวังการติดเชื้อโดยการป้องกัน คือควรกักสัตว์ใหม่ก่อนนำมาใส่รวมกัน เมื่อพบว่าเป็นโรคแล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรกำจัด และฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ และบริเวณทั้งหมดให้ดี เพราะโรคนี้สามารถติดต่อถึงคนได้
                  2 Norcardiosis เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ  Norcardia asteroides พบในปลาเตตร้านีออนก่อน  และต่อมาก็พบในปลาอื่น ๆ อีกหลายชนิด อาการที่พบมีแผลหลุมที่ลำตัว และมีการขาดอาหาร  ปลาสีซีด ตาโปน อาจมีเลือดออกทั่วไป และมีจุดสีขาวใหญ่สีครีมเกิดขึ้นที่เหงือก ไต ตับ หรือถุงลม  กระเพาะ และที่อื่น ๆ ดูคล้ายวัณโรค แต่มักพบอาการโลหิตจางด้วย การติดต่อผ่านทางน้ำได้ โดยเชื้อมีชีวิตได้ดีในน้ำจืด ดิน และน้ำทะเลที่สกปรก  เชื้อมีชีวิตในน้ำทะเลสะอาดได้ไม่กี่วัน สัตว์ที่เคยติดเชื้อจะกลายเป็นพาหะไปตลอดชีวิต
การรักษาทำได้ยาก แต่เคยมีรายงานการใช้ยาในกลุ่มซัลฟาได้ผล
                  โรคครีบ และหางกร่อน พบได้บ่อยโดยเฉพาะเมื่อปลามีความเครียด และติดเชื้อแบคทีเรีย ที่มีอยู่ในน้ำ ในระยะแรกอาจพบแต่การ กร่อนบางส่วน แต่ถ้าทิ้งไว้นาน ๆ หางอาจหลุดหมดเลยได้  ในระยะแรกที่เป็นอาจใช้การรักษาโดยแช่ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะได้ แต่ถ้าเป็นหนักควรใช้ยาผสมอาหารร่วมด้วย โดยคำนวณความเข้มข้นให้เหมาะสมตามชนิดยา ให้วันละ 2 ครั้ง ถ้ามีอาการของเชื้อราเข้าแทรก ควรใช้ยาเหลือง(acriflavin)    แช่ด้วยการรักษาต้องทำเป็นเวลานานหลายสัปดาห์จนกว่าอาการจะดีขึ้นและครีบหางค่อยๆ งอกขึ้นมาใหม่
                  โรคท้องบวม (dropsy) พบมากในกลุ่มปลาทอง มักเห็นอาการบวมของท้อง เพราะมีของเหลวสะสมอยู่ในช่องท้อง แล้วทำให้มีการบานออกของเกล็ดด้วย สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อวัยวะภายในโดยเฉพาะที่ไต ทำให้เกิดการสะสมของเหลวซึ่งเป็นผลจากไตวาย มักพบเชื้อในกลุ่ม Aeromonas sp. เชื้อเหล่านี้เป็นเชื้อปกติที่พบได้ในตู้ปลาทั่วไป แต่ะก่อโรคเมื่อปลาอ่อนแอลง
การรักษาอาจใช้ยาปฏิชีวนะโดยผสมอาหารได้เช่นกัน แต่มักไม่ได้ผลดีนัก วิธีทีดีที่สุด คือ รักษาสภาพในตู้ให้เหมาะสม ซึ่งทำให้ปลาแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคสูง และควรแยกปลาป่วยออก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเก็บเชื้อภายในตู้
              โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียยังมีอีกหลายชนิด สิ่งที่สำคัญคือ จำเป็นต้องทดสอบว่าเป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรียจริงโดยการเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการแล้วนำไปตรวจหาว่ามียาชนิดใดบ้างที่สามารถใช้รักษาได้ แล้วนำยานั้นมาใช้ในขนาดและวิธีที่เหมาะสม โดยควรให้ยาไม่ต่ำกว่า  5 วัน เพื่อไม่ให้เกิดการดื้อยาขึ้น
โรคที่เกิดจากเชื้อรา
              ปลาเมื่อเกิดการอ่อนแอ หรือเป็นโรคต่าง ๆ มักมีการแทรกซ้อนของเชื้อราเกิดขึ้นด้วย เชื้อราที่พบได้บ่อย คือ
                  เชื้อ Saprolegnia และ Achlya มักพบบริเวณผิวนอกของปลา และที่เหงือก รวมทั้งไข่ปลา เชื้อนี้สามารถติดต่อผ่านอากาศลงมาในอ่างปลาได้ เป็นเชื้อที่มีอยู่ทั่วไป เห็นได้ชัดเมื่อมีแผลเกิดขึ้น เชื้อราเข้าไปอยู่บริเวณขอบแผลเป็นกลุ่มเส้นใยสีขาว โดยฝังรากลงไปใต้ชั้นผิวหนัง แล้วขยายออกไปดูคล้ายก้อนสำลี ซึ่งสร้างสปอร์ติดต่อไปยังตัวปลาตัวอื่นได้ และอาจทำให้ปลาตาย
              การรักษา สามารถใช้มาลาไคต์กรีนแช่  30 นาทีที่ความเข้มข้น 60 ppm โดยอาจทำซ้ำ ถ้าเป็นเชื้อราจะตายในไม่กี่ชั่วโมง ควรทำซ้ำเพื่อฆ่าถึงรากของเชื้อที่อยู่ใต้ผิวด้วย แต่ต้องระวังไม่ให้เข้มข้นเกินไปเพราะอาจทำให้เป็นพิษต่อปลาได้  นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้ยาอื่นๆด้วย เช่น  คอปเปอร์ซัลเฟต ด่างทับทิม providone iodine และเกลือแดง พบว่าการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำเล็กน้อย และเพิ่มออกซิเจนช่วยให้การหายเร็วขึ้น การป้องกันส่วนหนึ่ง คือ ควรเก็บอาหารที่เหลือ และปลาตายออกจากตู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อราอยู่ภายใน
                  2 Chyophoniasis เชื้อราชนิดนี้พบได้บ่อย บริเวณที่ตับ และไต รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ  การติดต่อผ่านทางอาหาร และเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด จับตัวเป็นกลุ่ม (cyst) อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ถึง 2.5 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาล  แล้วพัฒนาเป็นตุ่มเล็ก ๆ เมื่อทิ้งไว้จะแตกออกปล่อยสปอร์ออกมาแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นต่อไป อาการที่เกิดขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อระยะของโรค ปลามีอาการเชื่องช้า อาจเห็นเป็นตุ่มที่แตกออกมาภายนอก เกิดเป็นแผล ซึ่งถ้าอยู่ในระยะนี้มักจะสายเกินกว่ารักษาได้ ดังนั้น  ทางที่ดีควรทำลายปลาเหล่านี้เสีย และอาจพยายามรักษาปลาที่เหลืออยู่ด้วยการผสม  phenoxethol 1 เปอร์เซ็นต์ลงในอาหาร หรือเติมลงในน้ำ และควรให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียด้วย โรคที่เกิดจากเชื้อรานั้นจำเป็นต้องรักษา และฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ติดต่อไปยังบ่ออื่นต่อไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น