วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555
10 คำถาม เกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำตู้ปลา
1 ทำไมต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ?
น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาจะปริมาณของเสียเพิ่มขึ้นทุกวัน เช่นขี้ปลา เศษอาหารตกค้าง ฝุ่นตะกอน เมือกปลา เศษใบไม้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมลง มากน้อยหรือเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาดของตู้ จำนวนปลาและระบบกรอง การเปลี่ยนถ่ายน้ำคือการนำน้ำเสียออกส่วนหนึ่งแล้วเติมน้ำสะอาดสดใหม่ลงไปแทนทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น
2 ตู้ปลาที่มีระบบกรองน้ำยังต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำอีกหรือไม่?
ตู้ปลาหรืออ่างปลาทุกแบบจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ไม่ว่าจะมีระบบกรองน้ำหรือไม่ จริงอยู่ที่ว่าระบบกรองช่วยทำให้คุณภาพดีขึ้น แต่ด้วยความจำกัดทางด้านขนาดและขั้นตอนการใช้งาน ทำให้มันช่วยเราได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีตู้ที่มีระบบกรองน้ำที่ออกแบบมาอย่างถูกต้องก็สามารถช่วยยืดระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้นานขึ้นหลายเท่าหากเทียบกับตู้ที่ไม่มีระบบกรองน้ำหรือมีระบบกรองแบบพื้นฐาน
3 ระยะเวลานานเท่าใดจึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ?
โดยปรกติตู้ขนาดเล็กและกลางควรเปลี่ยนถ่ายน้ำสัปดาห์ละครั้ง ส่วนตู้ขนาดใหญ่นั้นสองสัปดาห์ครั้ง แต่หากมีระบบกรองน้ำที่ดีหรือเลี้ยงปลาไม่หนาแน่น ระยะเวลาก็อาจยืดออกไปได้ แต่ก็ไม่ควรนานนัก
4 ปริมาณของน้ำที่เปลี่ยนถ่ายควรอยู่ที่เท่าใดจึงจะเหมาะสม?
ปลาขนาดเล็กมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะน้ำ จึงไม่ควรเปลี่ยนถ่ายเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปลาใหญ่ ปลาที่ขับถ่ายของเสียมากหรือปลาที่กินอาหารสด ตู้ปลาที่เลี้ยงอย่างหนาแน่น จำเป็นต้องเปลี่ยนมากกว่านั้น คือ 25-30 เปอร์เซ็นต์ต่อครั้ง
ข้อควรระวัง...อย่าเปลี่ยนถ่ายน้ำทีเดียวหมดตู้เพราะปลาอาจช็อคน้ำใหม่ หากตู้สกปรกมากก็เปลี่ยนถ่ายให้บ่อยขึ้นในปริมาณเท่าเดิม
5 ขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมีอย่างไรบ้าง?
ขั้นแรกให้ปิดระบบไฟฟ้าทุกอย่างภายในตู้ก่อน จากนั้นก็เริ่มเช็ดทำความสะอาดกระจกด้านใน ปล่อยให้ตกตะกอนราวสิบนาที ใช้กรวยดูดน้ำ (ไซฟอน) ดูดเอาสิ่งสกปรกออกโดยกดครอบลงไปตามพื้นกรวด หากใช้สายยางธรรมดาจะไม่ดีนักเพราะต้องคุ้ยพื้นให้ตะกอนฟุ้งเพื่อจะดูดออกทำให้น้ำขุ่น พอน้ำหมดในระดับที่สมควร (20-25%) ก็หยุด จัดตู้ตามต้องการ เปิดน้ำเติมเบา ๆ พยายามปล่อยให้น้ำไหลผ่านอากาศก่อนลงตู้ได้จะยิ่งดี ทำความสะอาดภายนอกที่อาจเลอะเทอะจากการทำงาน ขั้นตอนสุดท้ายก็เสียบปลั๊กไฟให้ระบบกรองน้ำกับแสงสว่างทำงานตามเดิม
6 จำเป็นต้องเอาวัสดุกรองออกมาล้างทำความสะอาดด้วยหรือไม่?
วัสดุจำพวกใยกรองต้องเอาออกมาซักล้างทุกครั้ง ส่วนวัสดุกรองส่วนในเช่นหินพัมมิส ไบโอบอล เซรามิคริง (แล้วแต่จะใช้อย่างไหน) ให้เอาออกมาล้างนาน ๆ ครั้งโดยใช้น้ำฉีดเบา ๆ ก็พอแล้วเอาใส่กลับทันที
7 จำเป็นต้องเอากรวดปูพื้น หิน และสิ่งประดับต่าง ๆ ออกมาในขณะเปลี่ยนถ่ายน้ำหรือไม่?
กรวดปูพื้นนั้นไม่จำเป็น ส่วนหินและสิ่งประดับตกแต่ง หากเห็นว่ามีคราบเกาะดูไม่สวย (แต่บางคนชอบ) ก็เอาออกมาล้างข้างนอกได้ หรืออาจใช้วิธีแปรงเบา ๆ แล้วรอให้ฝุ่นตกตะกอนก่อนดูดออกพร้อมน้ำ
8 ควรย้ายปลาออกมาขณะเปลี่ยนถ่ายน้ำหรือไม่?
ไม่ควร เพราะการย้ายปลาทำให้ปลาเกิดความเครียด เมื่อเครียดแล้วปลาอาจป่วยได้ง่าย วิธีที่ถูกต้องคือค่อย ๆ ทำความสะอาดอย่างเบามือ ขัดถูช้า ๆ เมื่อทำเป็นประจำปลาจะเคยชินไม่ตื่นตกใจ และมีไม่น้อยที่ปลาชอบเข้ามาเล่นกับมือเราเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำให้สนุกดีไปอีกแบบ
9 มีน้ำยาอะไรที่ต้องใส่หลังเปลี่ยนถ่ายน้ำบ้าง?
สำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำแบบปรกติ (20-25%) ไม่จำเป็นต้องใส่น้ำยาอะไรลงไปทั้งสิ้น เพราะปริมาณน้ำที่เปลี่ยนไม่มากนัก อย่าเชื่อร้านขายปลาที่แนะนำยาต่าง ๆ โดยเฉพาะยาประเภทฆ่าเชื้อหรือยาทำให้น้ำใส ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นควรใช้เป็นกรณี ๆ การใช้พร่ำเพรื่อหรือใช้ทุกครั้งจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพปลา ส่วนการเปลี่ยนถ่ายน้ำในปริมาณที่มาก (อาจด้วยความจำเป็น) ก็ควรระมัดระวังเรื่องของคลอรีนหากเป็นน้ำประปา เป็นไปได้อาจใช้เครื่องกรองน้ำที่ขจัดคลอรีนได้หรือเติมน้ำยาลดคลอรีนลงในน้ำก่อนเติมลงตู้
10 หลังเปลี่ยนถ่ายน้ำทำไมน้ำจึงขุ่น?
เพราะฝุ่นตะกอนที่ถูกกวนลอยฟุ้งขึ้นมา แม้ว่าจะใช้ไซฟอนดูดน้ำอย่างเบามือแต่ก็จะยังมีฝุ่นตะกอนบ้างอยู่ดี ไม่จำเป็นต้องกังวลนักเพราะมันจะตกตะกอนและใสไปเองภายในไม่นาน ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำยาทำให้น้ำใสใด ๆ ทั้งสิ้น
ที่มา...http://finchompla.blogspot.com/2010/01/10.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น