วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

เลี้ยงปลาทองอย่างไร ให้สดใส แข็งแรง ไร้โรคภัย

1. การเลือกซื้อปลา และข้อควรปฏิบัติในการเลี้ยงปัจจัยหลักอย่างแรกในการเลือกซื้อปลา นั่นก็คือ ความแข็งแรง ปลาขณะอยู่ที่ร้านจำหน่ายปลาจะต้องเป็นปลาที่แข็งแรง ว่ายน้ำ ไม่มีอาการซึม หากเป็นปลานำเข้าจากต่างประเทศ ควรเป็นปลาที่นำเข้ามาแล้วไม่น้อยกว่า 10 วัน สังเกตทั่วทุกส่วนของปลาจะต้องไม่มีบาดแผล หรือจุดแปลกปลอมใด ๆ ปัจจัยต่อมาก็คือความสวยงามของปลา ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร เพราะฉะนั้นจึงควรเลือกซื้อปลาจากร้านที่มีชื่อเสียง เชื่อถือและไว้วางใจได้ เมื่อเลือกซื้อปลาที่ท่านถูกใจได้และนำกลับบ้านแล้ว การปล่อยปลาจะต้องนำถุงปลาวางลอยไว้ในบ่อที่ใช้เลี้ยง ประมาณ 20-30 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำในถุงให้เท่ากับน้ำในบ่อ หลังจากนั้นเปิดถุงปลาออก ตักน้ำในบ่อใส่เพิ่มลงไปในถุงทีละน้อย ปล่อยไว้สักระยะหนึ่ง แล้วจึงปล่อยปลาลงสู่บ่อได้ เมื่อปลาอยู่ในบ่อแล้ว สถานที่ สภาพน้ำ สภาพภูมิอากาศ อาจจะแตกต่างจากที่เคยอยู่เดิม และปลาจะอ่อนแอจากการเคลื่อนย้าย เพราะฉะนั้นจึงควรงดการให้อาหารแก่ปลา 1 วัน เพื่อให้ปลาปรับสภาพ และแข็งแรงก่อน ปัญหาที่มักพบบ่อยคือ การนำปลาใหม่ที่พึ่งจะซื้อ ไปปล่อยรวมกับปลาเดิมที่เลี้ยงอยู่แล้ว อาจจะทำให้ปลาป่วยได้ จึงสมควรที่จะต้องแยกเลี้ยงปลาใหม่ไว้ต่างหาก ประมาณ 10 วันขึ้นไป หากปลาแข็งแรงดี ไม่มีอาการใด ๆ ผิดปกติ ก็สามารถนำไปรวมกับปลาเดิม เลี้ยงในบ่อเดียวกันได้ หลังจากรวมปลาแล้วควรงดอาหารสัก 1-2 วัน แล้วสังเกตอาการปลาอย่างใกล้ชิด การเปลี่ยนน้ำในบ่อปลาเดิมเป็นน้ำใหม่ทั้งหมดก่อนการรวมปลาจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของปลาได้เป็นอย่างดี

2. เลี้ยงอย่างไรให้ปลาโตและสวยด้วย
มีผู้กล่าวว่า ถ้าเลือกซื้อปลาที่สวยและมีสายเลือดที่ดี นำไปเลี้ยงแล้วปลามีการพัฒนาที่ด้อยลง แสดงให้รู้ว่าฝีมือการเลี้ยงยังไม่ดี ถ้าเลี้ยงแล้วปลาคงสภาพเดิม ฝีมือการเลี้ยงก็อยู่ในระดับทั่วไป แต่ถ้าเลี้ยงไปแล้วปลามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ยิ่งโตยิ่งสวยขึ้น ก็เรียกได้ว่า มีฝีมือการเลี้ยงที่ดีมาก การที่จะทำให้การเลี้ยงปลาทองให้โตด้วย และสวยได้ั ไม่ใช่เรื่องยากเย็น การเตรียมความพร้อมให้ครบถ้วนตามที่ได้เขียนไว้ข้างต้น เป็นพื้นฐานของการเลี้ยงปลาให้มีคุณภาพดีได้ ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด ก็คือ การเอาใจใส่ ดูแลปลา อย่างสม่ำเสมอ การรักษาคุณภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำปลาทองของท่านอยู่เสมอ ๆ หากเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ทุกวันยิ่งดี ไม่ใช่เรื่องยากหากท่านมีการเดินท่อน้ำใหม่ และเดินท่อน้ำเก่าทิ้ง เพียงแต่เปิดให้น้ำเก่าไหลทิ้ง ดูดสิ่งสกปรก ขี้ปลา ออก และเปิดเติมน้ำใหม่ลงสู่บ่อทีละน้อย ก็จะทำให้บ่อปลาของท่านมีน้ำที่ใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา อุณหภูมิของน้ำใหม่ มักจะสูงกว่าอุณหภูมิของน้ำในบ่อ การเปิดเติมน้ำใหม่ทีละน้อย จะช่วยให้ปลาสามารถปรับตัวได้ และมีสุขภาพแข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างกระทันหัน เพราะอาจจะทำให้ปลาอ่อนแอ และป่วยได้
การให้อาหารปลา
 ควรเลือกสรรอาหารปลาที่สะอาด และมีคุณภาพดี ในปัจจุบันอาหารเม็ดก็มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าขึ้นไปมาก มีโปรทีนสูง และอาหารเม็ดบางชนิดก็ช่วยให้ปลาย่อยง่าย ขับถ่ายเป็นปกติ และสามารถซื้อหาได้สะดวก ควรให้อาหารแก่ปลาครั้งละน้อย ให้ปลาสามารถกินหมดได้ภายใน 5-10 นาที หากเป็นปลาเล็ก จนถึงปลาในรุ่นโทไซ ควรให้อาหารบ่อยครั้งเพื่อให้ปลาสมบูรณ์ หากไม่มีเวลามากพอ ก็สามารถหาซื้อเครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติ ซึ่งตั้งเวลาการให้อาหารปลา และจำนวนอาหารมากน้อยตามที่ต้องการได้ การให้อาหารสด จำพวก หนอนแดง ลูกน้ำ ก็จะทำให้ปลามีความสมบูรณ์เต็มที่ แต่ทั้งนี้อาจจะเสี่ยงต่อการติดโรคได้ จึงควรนำอาหารเหล่านี้มาฆ่าเชื้อ โดยการแช่ในน้ำที่ผสมยาที่สามารถฆ่าปรสิต ปลิงใส เห็บ และเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ เช่น ยา Aquarium 2 , ไซเตส หรือแช่ในน้ำผสมด่างทับทิม เป็นต้น โดยแช่ไว้ในระยะเวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นนำไปล้างในน้ำสะอาดหลาย ๆ เที่ยว แล้วจึงค่อยให้ปลากิน หรืออีกวิธีคือการนำอาหารสดล้างให้สะอาดตามขั้นตอนข้างต้น จากนั้นนำไปแช่ช่องแข็งในตู้เย็น อย่างน้อย 3 วัน แล้วจึงค่อยให้ปลากิน ก็จะสามารถควบคุมโรคได้อย่างดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ้การล้างอาหารสดให้สะอาดก่อนให้ปลากินจะแก้ไขปัญหาของเชื้อโรคที่ติดมาได้ แต่ข้อสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาดหลังจากการให้อาหารสด
การจับปลาขึ้นมาจากบ่อ ควรใช้กาละมังตักปลาขึ้นมาพร้อมกับน้ำ หรือกระชอนพิเศษที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ การจับปลาด้วยมือเปล่าควรล้างมือให้สะอาดก่อน แต่ก็ไม่ควรทำ เพราะอุณหภูมิของมือคนจะอยู่ที่ประมาณ 36.5 องศา แต่อุณหภูมิของปลาจะต่ำกว่ามาก หากต้องการจับปลาด้วยมือจริง ๆ ให้นำมือแช่ไว้ในบ่อปลาสักพักหนึ่งก่อนแล้วค่อยจับ ก็สามารถช่วยได้
เมื่อปลาป่วย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสิ่งมีชีวิต ก็ควรรีบทำการรักษาทันที อย่าปล่อยไว้สักระยะแล้วค่อยรักษา เพราะจะทำให้ปลามีอาการทรุดลง และยากต่อการรักษา การที่ปลาจะป่วยได้จะต้องมีสาเหตุ ลองนึกย้อนหลังไปสัก 1-2 วันว่า การเลี้ยงของท่านมีอะไรผิดปกติไปบ้างหรือเปล่า เช่น ให้อาหารสดที่ไม่สะอาด , ปล่อยให้น้ำในบ่อสกปรก โดยไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ, น้ำฝนตกสู่บ่อ เป็นต้น การรักษาในเบื้องต้นคือการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาด แล้วใส่เกลือสะอาดลงไปในบ่อเล็กน้อย งดการให้อาหารเด็ดขาด เปิดออกซิเจนให้แรงขึ้น คอยดูอาการ หากวันรุ่งขึ้นยังไม่ดีขึ้น ให้เติมเกลือลงในบ่อเพิ่ม รวมเป็นประมาณ 300 กรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร ตามปกติปลาจะมีอาการดีขึ้นภายใน 1 –2 วัน
สรุปแล้ว ก็คือ น้ำสะอาด อาหารสมบูรณ์ หลีกเลี่ยงที่จะทำให้ปลาต้องปรับสภาพกะทันหัน เพียงเท่านี้ก็สามารถเลี้ยงปลาให้สวยได้แล้ว
ผมรวบรวมวิธีการเลี้ยงปลาทอง โดยอาศัยประสบการณ์ในการเลี้ยงที่ผ่านมา โดยเฉพาะปลาทอง Ranchu, Tosakin และ Jikin และอาศัยการสังเกต และสอบถาม Breeder ที่มีชื่อเสียง จากการที่ได้เดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มปลาที่ประเทศญี่ปุ่น แต่โดยทั่วไปแล้ว ปลาทองทุกสายพันธุ์จะมีวิธีการเลี้ยงที่ใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถนำวิธีการเลี้ยงนี้ ไปใช้ได้กับปลาทองทุกชนิด
สำหรับผู้เลี้ยงทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้แล้วอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากผมไป ขอให้ท่านช่วยแสดงความคิดเห็น เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนของวงการปลาทองต่อไป 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น